คนต่างด้าวทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้ ไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย (ฎ.2744/2562)

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" และมาตรา 94 บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" 

แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ 

ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดิน จึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์ร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ ก. ในราคา 9,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ ก. การที่โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออยู่แก่ ก. 

จำเลยได้รับมอบเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ขาย แต่จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนเองโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง อันถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท ไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่ ก. แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ และไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกและต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม

ที่มา ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542