แนวทางการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

โดยทั่วไป หากไม่มีการกำหนดแบบหรือข้อความในการขอความยินยอมที่มีสภาพบังคับตามกฎหมายอื่นไว้เป็นการเฉพาะ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการดังนี้

👉 
การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ดังนี้
      - ต้องขอความยินยอมก่อนหรือในขณะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
      - ต้องแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการขอความยินยอมให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ (Informed) ก่อนจะให้ความยินยอม
      - ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการให้ความยินยอมอย่างเฉพาะเจาะจง (Specific) ไม่ใช่ระบุวัตถุประสงค์อย่างกว้าง ๆ เป็นการทั่วไป
      - ต้องแยกส่วนออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน มีแบบหรือข้อความที่เข้าถึงได้ง่ายและเข้าใจได้ รวมทั้งใช้ภาษาที่อ่านง่าย และไม่เป็นการหลอกลวงหรือทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์
      - ต้องขอความยินยอมโดยปราศจากกลฉ้อฉล หลอกลวง ข่มขู่ หรือสำคัญผิด เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมโดยสมัครใจและอิสระ (Freely Given)
      - ต้องไม่มีลักษณะที่เป็นเงื่อนไขที่บังคับหรือผูกมัด หรือเป็นเงื่อนไขที่บังคับให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมก่อนการเข้าทำสัญญาหรือบริการใด ๆ เพื่อเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มีความจำเป็นหรือเกี่ยวข้องสำหรับการเข้าทำสัญญาหรือการให้บริการนั้น ๆ

👉 การขอความยินยอมต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง นิติกรรมสัญญา หรือเงื่อนไขในการซื้อสินค้า ให้บริการ หรือทำธุรกรรม โดยการขอความยินยอมนั้นต้องแยกส่วนออกจากข้อความอื่น เช่น สัญญา อย่างชัดเจน ไม่สามารถนำไปเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญาได้

👉 การขอความยินยอม ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเฉพาะเจาะจง (Specific) ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ และห้ามมิให้ระบุวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหลายประเภทหรือหลายเรื่องหรือเป็นการทั่วไป มารวมอยู่ในการขอความยินยอมเพียงครั้งเดียว

👉 การขอความยินยอม ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบรายละเอียดดังต่อไปนี้ ก่อนหรือในขณะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
      - ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
      - วัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม เพื่อการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้หรือเปิดเผย
      - รายละเอียดประเภทของข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีการเก็บรวบรวม
      - สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในการถอนความยินยอม และรายละเอียดว่าจะกระทำได้โดยวิธีใด อย่างไร 

👉 การแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแจ้งเป็นหนังสือ การแจ้งทางวาจา การแจ้งทางข้อความในรูปแบบ SMS , อีเมล , MMS , โทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น เช่น การระบุรายละเอียดใน URL หรือ QR Code เป็นต้น

👉 การขอความยินยอมจะต้องมีการให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง (Clear Affirmative Act) โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องกระทำการหรือแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าได้ให้ความยินยอม เช่น การยื่นหนังสือให้ความยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจัดทำขึ้นเอง การลงนามให้ความยินยอมในแบบฟอร์มให้ความยินยอมที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจัดทำขึ้น การคลิกใน Checkbox เพื่อระบุว่า "ยินยอม" โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเอง การกดปุ่มบนโทรศัพท์มือถือ 2 ครั้งติดกัน เพื่อแสดงเจตนายืนยัน หรือการสไลด์หน้าจอ (Swipe) เป็นต้น เพื่อแสดงถึงเจตนาการให้ความยินยอมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อได้มีการแจ้งอย่างชัดเจนแล้วว่าการกระทำดังกล่าวแสดงถึงการตกลงหรือยินยอมให้เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล. (2566). กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล. พิมพ์ครั้งที่ 4. (น.90-95).

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542