นำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารในคดีล้มละลายได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9237/2539)

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้บุคคลภายนอกกู้ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราระหว่างร้อยละ 7 ถึง 25 ต่อเดือน แล้วแบ่งผลประโยชน์ สัญญากู้เงินตามฟ้องโจทก์นำเงินมาให้จำเลยที่ 1 ปล่อยกู้เพียง 375,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 1,125,000 บาท มารวมเข้ากับต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน 1,500,000 บาท แล้วให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันไว้เป็นหลักประกัน 

จำเลยที่ 1 ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่นาง ส. ไปแล้วจำนวน 250,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ก็ชำระคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมนำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย

นอกจากนี้ การที่ห้ามนำสืบพยานบุคคลเพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร อันเป็นการตัดรอนมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่

จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบพยานดังกล่าวได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้และจำเลยทั้งสองนำสืบความจริงได้ว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้บุคคลภายนอกกู้เพียง 375,400 บาท แล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรพิพากษาให้ล้มละลายหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9237/2539 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542
มาตรา 14
"นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดตามมาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 94
"เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
  (ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
  (ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
  แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542