การสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และใช้สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 489/2567)

กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้มีหนังสือหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีมีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลายประเด็น หนึ่งในประเด็นดังกล่าวได้หารือว่า กรมฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันทำละเมิดได้หรือไม่ หากไม่อาจดำเนินการได้ กรมฯ จะสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกับบุคคลที่ปล่อยปละละเลยให้การใช้สิทธิเรียกร้องขาดอายุความได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่า การสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเท่าใด ซึ่งหากเหตุการณ์ได้ล่วงเลยเวลามานานมากจนขาดอายุความทำให้การสอบสวนไม่อาจเกิดผลบังคับได้ ก็อาจยุติการสอบสวนได้

สำหรับอายุความตามข้อหารือ พิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้
  (1) กรณีนาย ถ. ผู้นำชี้สถานที่และควบคุมงานการก่อสร้าง ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ดังนั้น หากกรมฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นเจ้าหนี้ รู้ถึงความตายของนาย ถ. เกิน 1 ปี สิทธิเรียกร้องของกรมฯ อันมีต่อนาย ถ. เจ้ามรดกก็จะขาดอายุความ เนื่องจากพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของนาย ถ. เจ้ามรดก ทั้งนี้ ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  (2) กรณีคณะกรรมการตรวจการจ้าง กระทำละเมิดทำให้หน่วยงานของรัฐเสียหาย ระยะเวลาเกิน 10 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานงวดที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 อันเป็นวันที่มีการกระทำละเมิด ก็ถือว่าขาดอายุความแล้ว ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หากข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง ก็ให้นำอายุความที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาบังคับตามมาตรา 448 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในกรณีที่ปรากฏชัดว่าสิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนขาดอายุความแล้ว กรมฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อหาตัวผู้ต้องรับผิดในกรณีที่ทำให้คดีขาดอายุความ และดำเนินการทั้งทางวินัยและทางแพ่งกับผู้นั้นต่อไป โดยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าคดีขาดอายุความก่อน ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 508/2542

อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกตว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนขาดอายุความแล้ว หากหน่วยงานของรัฐประสงค์จะดำเนินการต่อไป ก็ไม่มีผลเป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดที่จะสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต่อไป

ซึ่งหากปรากฏว่ามีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยแม้ว่าสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความแล้ว ก็ยังอาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องต่อไปได้ เนื่องจากศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องมิได้ หากคู่ความไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 193/29 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 850/2554

อย่างไรก็ตามรณีที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว การออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.547/2556 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 887/2556 และการดำเนินคดีที่ขาดอายุความนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 กำหนดว่ากรณีคดีขาดอายุความแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐยังยืนยันให้พนักงานอัยการดำเนินคดีให้ ทั้งที่เห็นได้ล่วงหน้าว่า หากดำเนินคดีต่อไปก็มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กล่าวคือ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียกำลังคนในการปฏิบัติงานโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งการดำเนินคดีของรัฐไม่ควรดำเนินการในลักษณะที่เอารัดเอาเปรียบเอกชนด้วยการคาดหวังว่าเอกชนอาจไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้คดี เพราะความไม่รู้กฎหมายหรือความหลงลืม หรืออาจขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา เพราะมีผลให้การอำนวยความยุติธรรมของรัฐขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงไม่ควรนำคดีที่ขาดอายุความแล้วส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป

ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 489/2567 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีมีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542