"ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ต้องตีความโดยเคร่งครัด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2546)

คำว่า "ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งความหมายของข้อความที่ว่า ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ ซึ่งมีหน้าที่สอนศิษย์เท่านั้น แต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย

จำเลยเป็นเพียงครูหรืออาจารย์สอนกวดวิชาตามที่มีผู้ไปสมัครเรียนตามความสมัครใจ และเมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 สมัครเรียนชำระค่าสมัครแล้วจะไปเรียนหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ แสดงว่า จำเลยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลปกป้องรักษาโจทก์ร่วมที่ 2 ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอน ดังนั้น แม้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ก็มิใช่กระทำต่อศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย อันจะเป็นผลให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 285 หากเป็นเพียงความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก และมิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 281

โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น พออนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องทุกข์แล้ว จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)

จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 จึงหลอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าจะพาไปสมัครแข่งขันวาดภาพ โดยให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับไป แต่จำเลยกลับขับรถจักรยานยนต์พาโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าโรงแรมม่านรูดแล้วข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 การกระทำของจำเลยเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2546 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
- ประมวลกฎหมายอาญา
  มาตรา 285 (เดิม) 
  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 278 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 282 หรือมาตรา 283 เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม"
  มาตรา 285 (ใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562) 
  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 278 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 282 หรือมาตรา 283 เป็นการกระทำแก่บุพการี ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ญาติสืบสายโลหิต ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล หรือผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม"

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม