บทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยรถยนต์ ต้องตีความโดยเคร่งครัด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2567)

คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคนรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 โจทก์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลย มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 และสิ้นสุดวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 โดยกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อตกลงว่าด้วยกรณีรถยนต์สูญหายหรือไฟไหม้ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ 150,000 บาท 

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 เวลา 10.10 นาฬิกา โจทก์ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยแล่นไปจอดที่บริเวณหน้าร้านขายแบตเตอรี่ทุ่งสง 99 แล้วมีคนร้ายลักรถยนต์คันดังกล่าวไป ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2565 เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งว่าพบรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไปถูกเพลิงไหม้ที่ริมถนนสายเพชรเกษมฝั่งขาออกไปจังหวัดตรัง เยื้องโรงเรียนบ้านเหนือ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โจทก์แจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าเหตุที่รถยนต์สูญหายเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์

ศาลเห็นว่า การที่โจทก์ขับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับจำเลยแล่นไปจอดริมถนนบริเวณหน้าร้านขายแบตเตอรี่ทุ่งสง 99 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะขนาดใหญ่ มีร้านค้าตั้งอยู่ติด ๆ กัน ฝั่งตรงข้ามของถนนก็มีลักษณะเปิดเป็นร้านค้าเช่นเดียวกัน สภาพร้านขายของริมถนนบริเวณที่เกิดเหตุจึงมีลักษณะเป็นตลาดย่านการค้า 

โจทก์จอดรถเพื่อติดต่อขอซื้อแบตเตอรี่ โดยจอดรถห่างจากร้านประมาณ 5 ถึง 8 เมตร เนื่องจากไม่มีที่จอดรถ เมื่อจอดรถแล้วลงจากรถไปต่อรองราคากับเจ้าของร้านทุ่งสงแบตเตอรี่ 99 ใช้เวลาประมาณ 6 นาที จึงหันหลังกลับมาที่รถยนต์เพื่อให้พนักงานของร้านนำแบตเตอรี่ที่ตกลงซื้อไปส่งให้ แต่รถยนต์หายไปจากที่จอดแล้ว 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจุดจอดรถยนต์อยู่ใกล้ร้านขายแบตเตอรี่และจุดที่โจทก์ติดต่อขอซื้อแบตเตอรี่กับทางเจ้าของร้านอย่างมาก การติดต่อขอซื้อแบตเตอรี่ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าใช้เวลาไม่นาน และจากข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าใช้เวลาประมาณ 6 นาทีเท่านั้น ขณะจอดรถเป็นเวลากลางวัน ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดปิดบังจุดที่จอดรถยนต์อันเป็นช่องทางให้คนร้ายสามารถลงมือกระทำความผิดได้โดยง่ายแต่อย่างใด และจุดจอดรถอยู่หน้าร้านค้าหรืออาคารที่พักอาศัยของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ติดกับร้านขายแบตเตอรี่ จุดจอดรถจึงอยู่เยื้องจากหน้าร้านขายแบตเตอรี่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การจอดรถยนต์ของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวโดยวางกุญแจไว้ที่เบาะข้างคนขับด้านหน้าไม่ล็อกประตู ก็ยังอยู่ในวิสัยที่โจทก์สามารถดูแลรักษารถยนต์ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ได้ การจอดรถยนต์ของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวมิใช่การละทิ้งการครอบครองชั่วคราว รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ละการตีความตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ และข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งเป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด 

ดังนั้น แม้การที่โจทก์จอดรถยนต์ โดยวางกุญแจไว้ที่รถ ไม่นำกุญแจติดตัวไปด้วย และไม่ปิดล็อกรถยนต์จะพอถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ 

ที่มา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2567 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)