การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ฟ้องศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 3/2567)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามบทนิยาม "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามบทนิยาม "หน่วยงานทางปกครอง" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 6 ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้แก่ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 6 ทำการตรวจค้นรถ อ้างว่ารถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ขนไม้ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งยึดรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และไม้ทั้ง 9 ท่อน หรือการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลงบันทึกประจำวันต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเตรียมการดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีทั้งสองว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา หรือการไม่ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ไม่ทำสำนวนอายัดหรือดำเนินคดี จงใจกระทำละเมิดเพราะไม้พิพาทเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย นั้น ล้วนเป็นขั้นตอนของการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 6 ดังกล่าวจึงไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครอง
ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ที่มา คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 3/2567 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
ที่มา คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 3/2567 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น