ธนาคารหน่วยกิต (ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา)

ธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนโดยไม่จำกัดอายุ สามารถนำผลการเรียนหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ มาสะสมเทียบโอนและใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงาน การศึกษาต่อ เพิ่มและพัฒนาทักษะ ยกระดับวิชาชีพ ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีรายละเอียดตาม ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป) ดังนี้

1. คำจำกัดความ
  1.1 ธนาคารหน่วยกิต หมายความว่า ระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกการเทียบโอนผลการเรียนที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ หรือการสะสมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษาหรือการประกอบอาชีพ และสามารถเทียบโอนหน่วยกิต ระหว่างสถานศึกษาได้
  1.2 หน่วยกิต หมายความว่า หน่วยที่แสดงปริมาณของผลการเรียนที่ได้จากการศึกษา หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ หรือการสะสมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงาน ระหว่างการศึกษาหรือการประกอบอาชีพ
  1.3 ผลการเรียน หมายความว่า ความรู้ ทักษะ ความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ คุณธรรมจริยธรรม และลักษณะบุคคลที่ได้จากการศึกษา ซึ่งสามารถแสดงในรูปของคะแนนตัวอักษรหรือแต้มระดับคะแนนที่นำมาคิดคะแนนผลการเรียนหรือคำนวณแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมได้
  1.4 ผลลัพธ์การเรียนรู้ หมายความว่า ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ หรือการสะสมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ หรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษาหรือการประกอบอาชีพ ตามกรอบคุณวุมิแห่งชาติตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด
  1.5 การเทียบโอน หมายความว่า การดำเนินการเทียบโอนหน่วยกิต ซึ่งมี 2 ลักษณะ ได้แก่ 
    (1) การโอนผลการเรียน โดยนำผลการเรียนหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ มาประเมินเป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษา 
    (2) การเทียบระดับการศึกษา โดยนำผลการเรียนหรือผลลัพธ์การเรียนรู้มาประเมินเทียบระดับการศึกษา ซึ่งขึ้นอยู่กับระเบียบของสถานศึกษานั้น ๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  1.6 ผู้เรียน หมายความว่า ผู้ที่ลงทะเบียนสะสมหน่วยกิตกับสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา
  1.7 การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ สและการศึกษาตามอัธยาศัย
  1.8 การอาชีวศึกษา หมายความว่า การศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ทั้งรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด
  1.9 การฝึกอบรม หมายความว่า การเพิ่มพูนความรู้และการฝึกทักษะอาชีพระยะสั้นหรือระยะยาว ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นกำหนด
  1.10 สถานศึกษา หมายความว่า โรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา
  1.11 หน่วยงานต้นสังกัด หมายความว่า หน่วยงานที่มีสถานศึกษาที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษาอยู่ในสังกัดหรือในการกำกับดูแล
  1.12 คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้ง 

2. วัตถุประสงค์
  2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่กำหนดอายุและคุณวุฒิของผู้เรียน เป็นการเชื่อมโยงทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
  2.2 ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถานศึกษาได้
  2.3 ส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาและใช้ประโยชน์ของธนาคารหน่วยกิตเป็นกลไกสำคัญในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการ ความสามารถและความสนใจของผู้เรียน เอื้อประโยชน์ในการเพิ่มพูนสมรรถนะ ทักษะ เพื่อการทำงานและการเพิ่มคุณวุฒิ

3. หลักการ
  3.1 ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ มาเทียบโอนหน่วยกิตและสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ตามประกาศฉบับนี้
  3.2 ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตได้ตลอดชีวิตโดยไม่จำกัดอายุและคุณวุฒิของผู้เรียน รวมทั้งระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน
  3.3 ข้อมูลหน่วยกิตของผู้เรียนที่สะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด

4. หลักเกณฑ์
  4.1 การสะสมหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาในระบบ ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียน เพื่อสะสมหน่วยกิตในสถานศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาได้ 
  ทั้งนี้ ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาที่ขึ้นทะเบียนมากกว่าหนึ่งแห่งได้
  4.2 การสะสมหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ หรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษาหรือการประกอบอาชีพ สถานศึกษาต้องดำเนินการประเมินเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประกาศกำหนด หรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด

5. การดำเนินงาน
  ธนาคารหน่วยกิต ประกอบด้วย ธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษา ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด ธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษา และธนาคารหน่วยกิตกลาง โดยแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ดังนี้
  5.1 สถานศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษา ให้ดำเนินการตามประกาศธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษา และตามที่หน่วยงานต้นสังกัดประกาศกำหนด
  5.2 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด ให้ดำเนินการประสานงาน ส่งเสริม และบูรณาการ การทำงานธนาคารหน่วยกิตของหน่วยงานและองค์กรจัดการศึกษาในจังหวัด ทุกระดับการศึกษาและรูปแบบการศึกษา รวมถึงการตรวจสอบ รับรองและขึ้นทะเบียนสถานศึกษา และให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับธนาคารหน่วยกิตทุกประเภท
  5.3 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ทำหน้าที่เป็นธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษา ให้ดำเนินการจัดทำประกาศที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการและแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตในระดับการศึกษาและรูปแบบการศึกษา ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานของธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาและธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด และให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลของธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดและธนาคารหน่วยกิตกลาง
  5.4 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่เป็นธนาคารหน่วยกิตกลาง เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุน บูรณาการการดำเนินการของธนาคารหน่วยกิตให้เป็นไปตามประกาศนี้และที่คณะกรรมการกำหนด

6. การบันทึกผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้
  6.1 กรณีผู้เรียนได้รับหน่วยกิตจากการลงทะเบียนเรียนในรายวิชาหรือกลุ่มรายวิชาต่าง ๆ จากการศึกษาในระบบของสถานศึกษา ให้สถานศึกษาบันทึกผลการเรียนตามระดับคะแนนตัวอักษรหรือแต้มระดับคะแนนที่สอบได้
  6.2 กรณีที่ผู้เรียนได้รับหน่วยกิตจากการเทียบโอนจากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษาหรือการประกอบอาชีพ ให้สถานศึกษาบันทึกโดยไม่กำหนดระดับคะแนนตัวอักษรหรือแต้มระดับคะแนน หรืออาจจัดให้มีการประเมินใหม่เพื่อวัดระดับผลการเรียนและบันทึกผลการเรียนตามระดับคะแนนตัวอักษรหรือแต้มระดับคะแนนที่สอบได้ โดยให้จัดทำหลักฐานข้อมูลประกอบการเทียบโอนบันทึกไว้ด้วย

7. การนำหน่วยกิตที่สะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตเพื่อไปใช้ในการศึกษาเพื่อรับคุณวุฒิการศึกษา ให้จัดทำเป็นประกาศหลักเกณฑ์ตามระดับการศึกษาและรูปแบบการศึกษา ภายใน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ดังนี้
  7.1 ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษาในระบบ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้กำหนด 
  7.2 การอาชีวศึกษา ทั้งรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด 
  7.3 การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกำหนด 
  ทั้งนี้ ธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษา สามารถออกรายงานการสะสมหน่วยกิต เพื่อใช้ในการแสดงการเรียนรู้ตลอดชีวิต

8. การดำเนินงานของหน่วยงานต้นสังกัดที่มีสถานศึกษาดำเนินการธนาคารหน่วยกิต ให้ดำเนินการออกคำสั่ง ประกาศ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาเป็นไปตามประกาศฉบับนี้ และกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษา และให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลของธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด ธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษา และธนาคารหน่วยกิตกลาง

9. 
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ 
  9.1 เสนอแนะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการออกคำสั่ง ประกาศ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ 
  9.2 กำหนดนโยบาย กำกับ ติดตาม และให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  9.3 กรณีไม่สามารถปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวได้ หรือมีความจำเป็นต้องปฏิบัตินอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ และให้ถือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542