บทบังคับให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมข้อสังเกต (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2566)

คดีนี้มีการโต้แย้งว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคสอง เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนถูกบังคับว่า หากไม่ดำเนินการลงโทษตามมาตรา 98 จะถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าข้าราชการในสังกัดมีความผิดทางวินัยหรือไม่ ซึ่งทำให้ข้าราชการที่ถูกวินิจฉัยฐานความผิดจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการพิจารณาวินจิฉัยและลงโทษด้วยหลักคุณธรรมจากผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 (กฎหมายเดิม) เช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 100 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 98 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการพิจารณาโทษทางวินัยตามมาตรา 98 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนต้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเร็ว เพื่อให้มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีสภาพบังคับและมีผลทางกฎหมายต่อการดำเนินการทางวินัยอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตสัมฤทธิ์ผล และสามารถที่จะระงับยับยั้งและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้อย่างเข้มงวดเด็ดขาดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งป้องกันมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนประวิงเวลาเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกกับผู้กระทำความผิด 

ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค และไม่ขัดต่อหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดหรือเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าได้กระทำความผิด ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ และสิทธิที่จะได้เลื่อนตำแหน่งตามศักยภาพของตน รวมถึงเกิดความเสียหายด้านชื่อเสียง สภาพครอบครัวและสังคมซึ่งยากแก่การเยียวยาหากศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในภายหลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ชั้นการแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนกับผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกกล่าวหาจนถึงการชี้มูลความผิด โดยคำนึงถึงกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย ตลอดจนการแยกชี้มูลความผิดให้ชัดเจนระหว่างการทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดกรณีเดียวหรือทั้งสองกรณี ทั้งนี้ เพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะและประโยชน์ของเอกชนมิให้เสียไปอันจะสอดคล้องกับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง

ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2566

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม