การขออนุญาตฎีกา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565)
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก มีการโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งตามมาตรา 248 ซึ่งการพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นไปตามมาตรา 249 เท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรม การนำระบบอนุญาตมาใช้แทนระบบสิทธิ ทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลจากศาลสูง ขาดประสิทธิภาพ สร้างความไม่เป็นธรรม ความไม่สะดวก ทำให้ล่าช้า เสียค่าใช้จ่ายสูง จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลและสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติในคดีแพ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 68 และมาตรา 77 วรรคสาม และการแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาโดยประธานศาลฎีกาแทนศาลฎีกาไม่สามารถกระทำได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 189
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 มาตรา 248 และมาตรา 249 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 เนื่องจากบทบัญญัติในส่วนการฎีกาไม่สามารถกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเกิดความล่าช้า กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม จึงกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีใดสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกามีประสิทธิภาพ ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริงและรวดเร็วแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 มาตรา 248 และมาตรา 249 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 เนื่องจากบทบัญญัติในส่วนการฎีกาไม่สามารถกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเกิดความล่าช้า กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม จึงกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีใดสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกามีประสิทธิภาพ ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริงและรวดเร็วแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
มาตรา 247 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในเรื่องการฎีกาจากระบบสิทธิ (Appeal as of Right) เป็นระบบอนุญาต (Discretionary Appeal) เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคดีที่มีความสำคัญโดยไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายและจำนวนทุนทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับเดิม สิทธิในการฎีกาของคู่ความขึ้นอยู่กับจำนวนราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท
ขณะที่การฎีกาในระบบอนุญาต ทำให้คู่ความได้รับความยุติธรรมในชั้นศาลฎีกาได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าคู่ความที่ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร และจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเท่าไร สามารถยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายได้เท่าเทียมกันภายใต้การพิจารณาวินิจฉัยของศาล
อีกทั้งการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นไปตามหลักความประสงค์ของคู่ความอันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชน การกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่ตรวจสอบ ทบทวน และกลั่นกรองคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีความเหมาะสมเพียงพอสอดคล้องกับหลักการตรวจสอบการพิจารณาคดี (Double Degree of Jurisdiction)
มาตรา 248 กำหนดให้การพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 247 กระทำโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคน เป็นผู้มีประสบการณืในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากลั่นกรองคดี
มาตรา 249 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ควรวินิจฉัย และวรรคสองได้กำหนดกรณีปัญหาสำคัญสำหรับการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาไว้ตาม (1) ถึง (6) หากคำร้องขออนุญาตฎีกาใดมีลักษณะเป็นกรณีปัญหาสำคัญย่อมได้รับการอนุญาตให้ฎีกา อย่างไรก็ดี ระบบวิธีพิจารณาความแพ่งและระบบวิธีพิจารณาความอาญามีวัตถุประสงค์พื้นฐานที่แตกต่างกัน การนำระบบอนุญาตฎีกามาใช้เฉพาะคดีแพ่ง จึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
ดังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 มาตรา 248 และมาตรา 249 จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคู่ความ หากแต่คู่ความยังสามารถขออนุญาตฎีกาในปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยได้ เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน กับประโยชน์ส่วนรวมที่ได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วขึ้น เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และการที่กฎหมายกำหนดให้องค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องขออนุญาตฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารรษความแพ่ง มาตรา 248 เป็นเพียงการแต่งตั้งองค์คระผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย มิใช่การจัดตั้งศาลขึ้นใหม่หรือกำหนดวิธีพิจารณาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลฎีกาแต่อย่างใด ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 189
ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565. หน้า 292-294ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565. หน้า 292-294
ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565. หน้า 292-294ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2565. หน้า 292-294
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น