วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ใช้ระบบไต่สวน รวดเร็ว ศาลสืบพยานเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2566)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเกษตรจังหวัดสุรินทร์ สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้และข้อบังคับของประธานศาลฎีกา…" หาได้ใช้ระบบกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใดไม่ 

พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 22 บัญญัติว่า "ในคดีที่อัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ให้ศาลนำรายงานและสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์ มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง และอาจสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้ตามที่เห็นสมควร" 

มาตรา 25 บัญญัติว่า "ในการสืบพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะทำการสืบพยาน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม แล้วจึงอนุญาตให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม ..การถามพยานตามวรรคหนึ่ง จะใช้คำถามนำก็ได้ ..หลังจากคู่ความถามพยานตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล"

ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ข้อ 23 "ก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร ซึ่งรวมทั้งการเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วยโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอก็ได้"

จากบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เป็นวิธีพิจารณาที่แสวงหาความจริงโดยศาล และศาลมีอำนาจไต่สวนเต็มที่เพื่อให้ได้ความจริงของเรื่องนั้น ๆ 

ดังนั้น หากศาลอุทธรณ์มีข้อสงสัยข้างต้นหรือต้องการไต่สวนพยานปากใด ก็ชอบที่จะกำหนดให้ศาลชั้นต้นไต่สวนให้ได้ความจริง ทั้งนี้ตามกฎหมายข้างต้นประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 43 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) และจะพิพากษายกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองได้เฉพาะเมื่อเห็นว่าศาลได้ทำการไต่สวนพยานอย่างเต็มที่แล้ว 

ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนคดีนี้ เห็นว่า เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วจึงเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานเพิ่มเติม

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 151 หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเกษตรจังหวัดสุรินทร์ สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเป็นหัวหน้าส่วนราชการมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานที่กำหนดไว้ จัดการดูแลรักษาเงินของสำนักงานการเกษตรจังหวัดสุรินทร์ การอนุมัติการให้ปฏิบัติราชการแทน หรือการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งการอนุมัติอนุญาตให้ข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดเดินทางไปราชการในราชอาณาจักร อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ อนุมัติให้ใช้รถยนต์ส่วนกลางออกนอกเขตจังหวัดที่ตั้งสำนักงาน หรือเป็นการใช้ข้ามคืนของข้าราชการและลูกจ้างในสังกัด การสั่งให้ข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดปฏิบัติงานนอกเวลาและการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าทำการนอกเวลาได้ตามสิทธิ รวมทั้งการอนุมัติสัญญารับรองการยืมเงินทดรองราชการของข้าราชการในสังกัดที่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ตามคำสั่งสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ เรื่องการมอบหมายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ คำสั่งจังหวัดสุรินทร์ เรื่องการมอบอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอและปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอปฏิบัติราชการแทน และคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ เรื่องการมอบอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอและปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ปฏิบัติราชการแทน จำเลยจึงมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการและดูแลรักษาเงินที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหาย 

การที่จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขออนุมัติยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการที่ไม่ได้จ่ายจริง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ไม่ได้ไปจริง เพื่อเป็นค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มที่จ่ายเกินความจริง จำเลยเป็นผู้อนุมัติและสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก ซึ่งผิดระเบียบ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเช็คเรียกเก็บเงินแล้วนำเงินให้จำเลยหรือนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย และจำเลยสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำใบสำคัญส่งใช้เงินยืมอันเป็นเท็จ แม้การเบิกจ่ายเงินจะมีเจ้าหน้าที่อื่นดูแลดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา แต่จำเลยในฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการก็ยังคงมีหน้าที่จัดการและรักษาเงินดังกล่าวด้วย การกระทำของจำเลยดังวินิจฉัยข้างต้นเป็นวิธีการในการเบียดบังเอาเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจัดการและรักษาเพื่อให้เงินมาอยู่ในความครอบครองของจำเลย แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และการสั่งการและการดำเนินการโดยมิชอบดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายต่อรัฐและผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2561 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ทางไต่สวนข้อเท็จจริงจึงมีน้ำหนักมั่นคง ไม่เป็นพิรุธขัดกันเอง และไม่ขัดแย้งกับเอกสารดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ทุกข้อ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องโจทก์บางส่วนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม), 151 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางไต่สวนพยานจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 13 กระทง รวมจำคุก 39 ปี 52 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 662,213 บาท แก่ผู้เสียหาย

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542