ผู้ก่อสร้างคอนโดมิเนียมทำละเมิด เจ้าของโครงการต้องร่วมรับผิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4269/2565)

โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารคอนโดมิเนียมพิพาทและผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมเพื่อก่อสร้างเสาเข็มทำฐานรากอาคารและก่อสร้างอาคารสูง 37 ชั้น ทำให้อาคารเรียนของโจทก์เสียหายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ครู นักเรียน และบุคลากรของโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย 

จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าประสงค์ให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใครและมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร 

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำการก่อสร้างคอนโดมิเนียมพิพาท ก็ไม่มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามมาตรา 428 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย (จำเลยฎีกาว่าฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมิได้ยกขึ้นอ้างในคำให้การ แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252) 

โจทก์อ้างว่าก่อนวันนัดสืบพยาน โจทก์มอบหมายให้วิศวกรทำการตรวจสอบความเสียหายของอาคารเรียนของโจทก์พบว่ามีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมโดยเพิ่มทุนทรัพย์ที่พิพาทภายหลังจากวันชี้สองสถานได้ ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้เกี่ยวข้องพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และมาตรา 180

เมื่อกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตามขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างตามที่ระบุไว้ในรายงานต้องดำเนินการภายใต้การตรวจสอบควบคุมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายซึ่งมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องชุมชนหรือบุคคลอื่น ๆ การที่จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ฝ่าฝืนไม่กระทำการตามที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว และเกิดความเสียหายขึ้นแก่อาคารเรียนของโจทก์ พื้นรอบอาคาร รวมถึงรั้วกำแพงคอนกรีต โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดเสียงดัง แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองปลิวเข้ามาในห้องเรียน โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนย่อมได้รับความเสียหายและมีสิทธิฟ้องเรียกให้ฝ่ายจำเลยรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นได้ 

เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ร่วมรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการขุดเจาะเสาเข็มและการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลย ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่การเริ่มรื้อถอนอาคารหลังเดิม ไปจนก่อสร้างแล้วเสร็จรวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าว อันเป็นกรณีที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างทุกขั้นตอน ต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายเดียวกันแก่โจทก์ ไม่อาจแบ่งแยกความเสียหายว่าเกิดจากการกระทำละเมิดในขั้นตอนการก่อสร้างตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้ 

ส่วนจำเลยแม้มิใช่ผู้ทำการก่อสร้าง แต่ในฐานะเจ้าของโครงการ ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบมิให้การทำงานก่อสร้างก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น แม้จำเลยจะว่าจ้างบุคคลใดทำการก่อสร้าง แต่จำเลยยังต้องควบคุมดูแลบุคคลผู้ทำการก่อสร้างผ่านข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ทำการก่อสร้าง ปัญหาระหว่างการก่อสร้างโครงการของจำเลยย่อมถือว่าอยู่ในความรับรู้และรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลตรวจสอบควบคุมมิให้การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น 

เมื่อการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และพฤติการณ์แห่งคดีนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 422 จำเลยจึงต้องร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420 

เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด หากแต่เป็นเพียงผู้รับประกันภัยที่ต้องรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยต่อโจทก์ จำเลยร่วมที่ 2 จึงยังมิได้เป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันกระทำละเมิด แต่เมื่อมีการขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยร่วมที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงให้ความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยร่วมที่ 2 นับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดี 

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4269/2565 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิดจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"
  มาตรา 422 "ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใด อันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ผู้ใดทําการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด"
  มาตรา 428 "ผู้ว่าจ้างทําของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหาย อันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทํา หรือในคําสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง"

- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  มาตรา 179 "โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคำฟ้อง
หรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้
  การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้
  (1) เพิ่ม หรือลด จำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ
  (2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม
หรือเสนอคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือ
  (3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือ
ข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
  แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่
ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้"
  มาตรา 180 "การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอัน
สมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย"
  มาตรา 225 "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดี
อันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
  ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาล
ชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้อง ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้"
  มาตรา 252 "ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 250 กำหนดไว้เป็น
อย่างอื่น ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542