ร่วมกันลักลอบพาคนต่างด้าวเข้าประเทศ ผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2566)

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2) มีองค์ประกอบของความผิด คือ สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติ คำว่า "องค์กรอาชญากรรม" หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปรวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม คำว่า "องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ" หมายความว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ความผิดที่กระทำในเขตแดนรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ... และคำว่า "ความผิดร้ายแรง" หมายความว่า ความผิดอาญาที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น 

ความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นและช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2)

อนึ่ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ยังร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดนั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556
  มาตรา 5 "ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
  (1) เป็นสมาชิกหรือเป็นเครือข่ายดำเนินงานขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
  (2) สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
  (3) มีส่วนร่วมกระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมหรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว
  (4) จัดการ สั่งการ ช่วยเหลือ ยุยง อำนวยความสะดวก หรือให้คำปรึกษาในการกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรม หรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว
  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ"

- พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
  มาตรา 63 "ผู้ใดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
  เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 และภายในพาหนะนั้นมีคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะนั้นได้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่สามารถรู้ได้ว่าภายในพาหนะนั้นมีคนต่างด้าวดังกล่าวอยู่ แม้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว"
  มาตรา 64 "ผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
  ผู้ใดให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้เข้าพักอาศัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่รู้โดยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
  ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามีหรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542