เรียกดอกเบี้ยจากจำเลย ในฐานะผู้ค้ำประกันและฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2566)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 720,400.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 586,686.45 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 21,087.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 720,400.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 607,773.95 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มกราคม 2564) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินคงเหลือนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีผลบังคับ แต่ดอกเบี้ยทุกช่วงเวลาให้ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน ส่วนดอกเบี้ยให้ร่วมรับผิดนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 720,400.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 607,773.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนหรือไม่ 

ศาลเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด…และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง 

แม้ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ตาม แต่นอกจากจำเลยที่ 2 จะถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยตลอดจนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเป็นเงิน 720,400.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 607,773.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 1070 "เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้"
  มาตรา 1077 "อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
  (1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
  (2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง"
  มาตรา 1087 "อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542