ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลและในมูลละเมิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566)
โจทก์จะไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ให้รับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิด หรือให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ทำการเป็นตัวแทนหรือทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812
แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด
ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 37 วรรคสอง และโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77
ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด
แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม
แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบสหกรณ์ น. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อและมิได้ให้บริษัท ภ. จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 77 "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม"
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 77 "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม"
มาตรา 193/30 "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี"
มาตรา 812 "ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด"
มาตรา 812 "ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น