อายุความฟ้องไล่เบี้ยทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1152/2566)
บริษัท ร. ยื่นฟ้องกรมที่ดิน กับพวก เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ร. พร้อมดอกเบี้ย กรมที่ดินจึงได้ชำระเงินตามคำพิพากษา
ต่อมากรมที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และกำหนดสัดส่วนความรับผิดของเจ้าหน้าที่ โดยปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งถึงแก่ความตายแล้ว จึงได้มีหนังสือเรียกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนำเงินมาชำระ และเมื่อไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด กรมที่ดินจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 กรมที่ดินผู้ฟ้องคดีได้ชำระเงินตามคำพิพากษา เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายในผลแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอก ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2545 การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้ จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิฟ้องทายาทของเจ้าหน้าที่ต่อศาลปกครองโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ต้องอาศัยอายุความตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ไม่อาจนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างมาตรา 193/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเป็นเหตุให้ศาลปกครองรับคำฟ้องที่ขาดอายุความได้แต่อย่างใด และโดยที่การฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ฟ้องคดีโดยตรง มิได้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล และมิใช่คดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่ฟ้องทายาทของเจ้าหน้าที่ไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ที่มา คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1152/2566
ต่อมากรมที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และกำหนดสัดส่วนความรับผิดของเจ้าหน้าที่ โดยปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งถึงแก่ความตายแล้ว จึงได้มีหนังสือเรียกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนำเงินมาชำระ และเมื่อไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด กรมที่ดินจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 กรมที่ดินผู้ฟ้องคดีได้ชำระเงินตามคำพิพากษา เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายในผลแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอก ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2545 การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้ จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิฟ้องทายาทของเจ้าหน้าที่ต่อศาลปกครองโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ต้องอาศัยอายุความตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ไม่อาจนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างมาตรา 193/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเป็นเหตุให้ศาลปกครองรับคำฟ้องที่ขาดอายุความได้แต่อย่างใด และโดยที่การฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ฟ้องคดีโดยตรง มิได้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล และมิใช่คดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่ฟ้องทายาทของเจ้าหน้าที่ไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ที่มา คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1152/2566
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น