ระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม (ศาลชั้นอุทธรณ์)
การกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2566 เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในส่วนของศาลชั้นอุทธรณ์มีสาระสำคัญ ดังนี้
การพิจารณาพิพากษาคดีอาจล่าช้ากว่ากำหนดระยะเวลาข้างต้นได้ เนื่องจากการโอนสำนวนคดี การปรึกษาร่างคำพิพากษาตามระเบียบ การประชุมใหญ่ หรือความตกลงกันของคู่ความ เช่น การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท การรอฟังผลคดีอื่น หรือมีข้อขัดข้องอันเกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือจากการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นหรือบุคคลภายนอก เช่น การส่งหมายระหว่างประเทศ การทำแผนที่พิพาท การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
ศาลอุทธรณ์ภาคและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการคดี ให้จำแนกลักษณะหรือประเภทคดีออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
(1) คดีเร่งพิเศษ คือ คดีลักษณะที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน สามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยเร็ว หรือคดีที่ประธานศาลอุทธรณ์ภาคหรือประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แล้วแต่กรณีกำหนดให้เป็นคดีเร่งพิเศษ โดยศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น เช่น
(ก) คดีที่มีปัญหาเฉพาะดุลพินิจในการลงโทษ
(ข) คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่สูง
(ค) คดีที่เกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(ง) คดีที่ผู้ประกันขอให้งดหรือลดค่าปรับ
(จ) คดีที่คู่ความโต้เถียงเฉพาะในประเด็นปัยหาข้อกฎหมายที่ไม่ซับซ้อน
(2) คดีเร่ง คือ คดีลักษณะที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอยู่บ้างในบางประเด็น แต่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยเร็ว หรือคดีที่ประธานศาลอุทธรณ์ภาคหรือประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แล้วแต่กรณี กำหนดให้เป็นคดีเร่ง ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น เช่น
(ก) คดีแพ่ง
1) คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์
2) คดีที่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
3) คดีที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่
4) คดีที่ขอให้รับคำฟ้องหรือคำให้การ คำขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การ
5) คดีฝ่ายเดียวไม่ว่าจะมีผู้คัดค้านหรือไม่
6) คดีที่อุทธรณ์คำสั่ง
7) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในชั้นบังคับคดี
(ข) คดีอาญา
1) คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องหรือลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และจำเลยต้องขังระหว่างอุทธรณ์
2) คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพสืบประกอบเฉพาะกรณีจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
3) คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่คู่ความอุทธรณ์เฉพาะดุลพินิจในการลงโทษ
4) คดีที่ส่งสำนวนมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
5) คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องหรือชั้นไต่ส่วนมูลฟ้อง
6) คดีที่อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่
7) คดีที่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
(3) คดีพิเศษ คือ คดีที่ต้องได้รับอนุญาตจากประธานศาลอุทธรณ์ภาคหรือประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แล้วแต่กรณี ให้เป็นคดีพิเศษ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน
(4) คดีทั่วไปหรือคดีธรรมดา คือ คดีที่ไม่เข้าอยู่ในประเภทคดีตาม (1) (2) และ (3)
คดีพิเศษ คดีทั่วไปหรือคดีธรรมดา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
ระยะเวลาในการพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาคและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
1. คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้องจากศาลชั้นต้น
2. คำสั่ง คำร้องทั่วไป ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
3. คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์
ระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ คดีแพ่งและคดีอาญา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น สำหรับในส่วนคดีอาญาที่มีปัญหาเฉพาะดุลพินิจในการลงโทษ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
ระยะเวลาในการพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลอุทธรณ์
1. คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้องจากศาลชั้นต้น
2. คำสั่ง คำร้องทั่วไป ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
3. คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ในคดีผู้บริโภค คดีค้ามนุษย์ และคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับคำร้อง
ประธานศาลฎีกา ประธานศาลชั้นอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค อาจกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทเป็นอย่างอื่นได้ ตามลักษณะ สภาพ ซึ่งต่างจากคดีทั่วไป เช่น มีคู่ความหรือพยานหลักฐานจำนวนมาก รวมทั้งปริมาณงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ในกรณีของศาลอื่นนอกจากศาลฎีกา ให้รายงานประธานศาลฎีกาทราบ
ในกรณีที่การดำเนินงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถทราบเหตุแหห่งความล่าช้าหรือตรวจสอบความคืบหน้าได้จากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในคดีนั้น โดยสอบถามได้ที่ศาล หรือทางโทรศัพท์ หรือทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS) หรือระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) หรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด
(หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้ใช้ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรมหรือระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าการที่ศาลนำข้อมูลเข้าสู่ระบบดังกล่าว เป็นการแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 แล้ว)
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการพิจารณาคดีได้ทางระบบติดตามสำนวนคดี (Tracking System) ทาง https://cios.coj.go.th/tracking/ หรือตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด
ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลหรือสำนักงานประจำศาลของศาลที่พิจารณาคดี เป็นผู้รับผิดชอบในการรับเรื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการดำเนินการตามระเบียบนี้ ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานและแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาและสำนักงานศาลยุติธรรมทราบด้วย
ดูเพิ่มเติม ระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น