การประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีของข้าราชการครู (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2566)
คดีนี้สื่บเนื่องมาจากศึกษาธิการจังหวัด ได้มีคำสั่งให้ นาย ศ. ข้าราชการครู ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นผู้ขาดคุณสมบัติทั่วไป ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) กรณีเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเคยถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีอาญา 2 คดี ดังนี้
ครั้งที่ 1 ถูกจับเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2543 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่ามีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน
ครั้งที่ 2 ถูกจับเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2549 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่ามีความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา)
นาย ศ. จึงยื่นฟ้องคดีปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง
นาย ศ. อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ระหว่างการพิจารณาคดี นาย ศ. โต้แย้งว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) ไม่ได้กำหนดให้การกระทำเช่นใดถือเป็นการประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ซึ่งกรณีของนาย ศ. เป็นความผิดเล็กน้อย มิใช่การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือกระทบกระเทือนต่อประโยชน์สาธารณะ และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจำกัดสิทธิไว้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมในการเข้ารับราชการตลอดชีวิต กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงเกินเหตุ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดส่งคำโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำโต้แย้ง ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้ว กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้ .... (7) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ...." โดยมีความมุ่งหมายในการกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าจะต้องไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมแก่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงในการร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา
ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับและประสานให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และการพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่อง"
โดยมาตรา 30 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งข้าราชการครูคือผู้ประกอบวิชาชีพ ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ ส่วนบุคลากรทางการศึกษานั้นคือผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศกึษา รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ การบริหารการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา อันแสดงให้เห็นถึงลักษณะหน้าที่เฉพาะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แตกต่างจากอาชีพอื่น ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง นอกจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่ดีแล้ว ยังต้องมีความประพฤติดี มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามในเกียรติของอาชีพ ต้องครองตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการวางตน และยึดมั่นในมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพขององค์กร ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้เรียน ชุมชน และสังคม
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) เป็นมาตรการเพื่อคัดกรองและป้องกันบุคคลที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียบกพร่องในศีลธรรมอันดี ไม่ให้เข้ามารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
แม้โดยสภาพหรือลักษณะของบทบัญญัติดังกล่าว ไม่อาจกำหนดได้ว่าข้อเท็จจริงใดหรือการกระทำใดที่จะถือเป็นการบกพร่องในศีลธรรมอันดี เนื่องจากศีลธรรมอันดีเป็นกฎเกณฑ์ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ถือปฏิบัติตามความเชื่อ ตามธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคมหรือศาสนา อันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข และถือเป็นเครื่องวินิจฉัยความประพฤติของคนในสังคม แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพลวัต มีความผันแปรไปตามบริบทของสังคม ต้องพิจารณาให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง วัฒนธรรม และประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไป
ฝ่ายนิติบัญญัติจึงตรากฎหมายโดยใช้ถ้อยคำที่ไม่มีคำจำกัดความเจาะจง เพื่อให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างยืดหยุ่นและสอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ของผู้กระทำและผลของการกระทำ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี
และโดยที่กำหนดลักษณะดังกล่าวให้เป็นเรื่องของคุณสมบัติทั่วไป ดังนั้น คุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวจะต้องมีอยู่ตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงไม่อาจกำหนดระยะเวลาจำกัดสิทธิได้
อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 30 (7) จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือเคยกระทำในอดีตในแต่ละกรณีเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยคำนึงถึงเกียรติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรฐาน พิจารณา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ รวมทั้งกำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรฝ่ายตุลาการหรือศาล อันเป็นการควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยรอบคอบ รัดกุม และอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
บทบัญญัติดังกล่าวแม้จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบจากการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลกับประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว กรณีเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพไว้แล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 จึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547มาตรา 30 (7) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น