อายุความการออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เสียหายจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด แต่จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คดีนี้ เทศบาลตำบล บ. ได้จ่ายเงินในการจัดซื้อสินค้าให้แก่ผู้ขายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าการจัดซื้อไม่เหมาะสมและทุจริต นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ว่าไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อมากระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2560 แจ้งว่าการจัดซื้อเป็นไปโดยไม่ชอบ เป็นเหตุให้เทศบาลตำบล บ. ได้รับความเสียหาย โดยให้เจ้าหน้าที่รับผิด
นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ถูกคำสั่ง ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ถูกคำสั่งจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เทศบาลตำบล บ. ได้จ่ายเงินค่าสินค้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 จึงถือว่าเป็นวันที่มีการกระทำละเมิด อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 นายกเทศมนตรีจึงต้องมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 และคำสั่งจะมีผลใช้ยันต่อเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งคำสั่งแล้ว ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
การที่นายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้จะอยู่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดก็ตาม แต่การแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งปรากฏตามสำเนาใบตอบรับทางไปรษณีย์ว่าหลานของผู้ฟ้องคดีได้ลงนามรับแทนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 20 มิถุนายน 2560 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด ตามนัยมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คดีนี้ เทศบาลตำบล บ. ได้จ่ายเงินในการจัดซื้อสินค้าให้แก่ผู้ขายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าการจัดซื้อไม่เหมาะสมและทุจริต นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ว่าไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อมากระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2560 แจ้งว่าการจัดซื้อเป็นไปโดยไม่ชอบ เป็นเหตุให้เทศบาลตำบล บ. ได้รับความเสียหาย โดยให้เจ้าหน้าที่รับผิด
นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ถูกคำสั่ง ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ถูกคำสั่งจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เทศบาลตำบล บ. ได้จ่ายเงินค่าสินค้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 จึงถือว่าเป็นวันที่มีการกระทำละเมิด อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 นายกเทศมนตรีจึงต้องมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 และคำสั่งจะมีผลใช้ยันต่อเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งคำสั่งแล้ว ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
การที่นายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้จะอยู่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดก็ตาม แต่การแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งปรากฏตามสำเนาใบตอบรับทางไปรษณีย์ว่าหลานของผู้ฟ้องคดีได้ลงนามรับแทนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 20 มิถุนายน 2560 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด ตามนัยมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น การที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้การพิจารณาอุทธรณ์ของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
ที่มา คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อผ.487/2563
ที่มา คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อผ.487/2563
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น