หลักการพิจารณาอุทธรณ์และผลการพิจารณาอุทธรณ์
หลักการพิจารณาอุทธรณ์
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ประจำปี พ.ศ. 2563 หน้า 24
ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองที่ได้รับคำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง มีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองของตนเองตามคำอุทธรณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง
และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใด และในเรื่องใดก็ได้ ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน (มาตรา 46)
โดยต้องพิจารณาให้เสร็จ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่าตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์นั้นโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (มาตรา 45 วรรคหนึ่ง)
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ (มาตรา 45 วรรคหนึ่ง)
แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ นอกจากจะต้องแจ้งผลให้แก่ผู้อุทธรณ์ทราบแล้ว ยังต้องเร่งรายงานความเห็น พร้อมด้วยเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ดังกล่าวด้วย
ส่วนว่าผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์นั้น เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งโดยทั่วไปคือเจ้าหน้าที่ในระดับสูงขึ้นไปตามสายงานบังคับบัญชาของผู้นั้น (มาตรา 45 วรรคสาม)
โดยผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ ก็ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลา 30 วันแรก (มาตรา 45 วรรคสอง)
ส่วนขอบเขตการพิจารณาคำอุทธรณ์นั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับขอบเขตการพิจารณาคำอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 46)
ผลการพิจารณาอุทธรณ์
เมื่อผู้ออกคำสั่งทางปกครองพิจารณาคำอุทธรณ์ หรือเมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาคำอุทธรณ์ตามขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บุคคลดังกล่าวอาจจะมีคำสั่งใหม่แทนคำสั่งเดิม เป็นการทบทวนคำสั่งทางปกครองภายในฝ่ายปกครองด้วยกันเอง
ผลการพิจารณาอุทธรณ์
เมื่อผู้ออกคำสั่งทางปกครองพิจารณาคำอุทธรณ์ หรือเมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาคำอุทธรณ์ตามขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บุคคลดังกล่าวอาจจะมีคำสั่งใหม่แทนคำสั่งเดิม เป็นการทบทวนคำสั่งทางปกครองภายในฝ่ายปกครองด้วยกันเอง
กรณีจึงแตกต่างจากการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่หลักเกณฑ์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองจะกระทำได้เพียงใด และจะมีผลย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตอย่างไร จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 49 ถึงมาตรา 53)
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ประจำปี พ.ศ. 2563 หน้า 24
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น