ศาลรับฟังหลักวิชาการวิจัยและสถิติในคดียาเสพติด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2560)

คดีนี้ศาลฎีกากำหนดปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ว่าการตรวจเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วยการสุ่มตรวจจากตัวอย่างร้อยละ 10 ของวัตถุของกลาง 2,000 เม็ด พบสารเมทแอมเฟตามีนในวัตถุตัวอย่างที่ตรวจ จึงนำมาคำนวณหาสารเสพติดทั้ง 2,000 เม็ด ได้สารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 28.236 กรัม ของผู้เชี่ยวชาญจะรับฟังได้หรือไม่ 

ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกการจับกุม เอกสารการส่งและรับวัตถุของกลางระหว่างพนักงานสอบสวนกับเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รายงานผลการตรวจพิสูจน์ของกลางว่า

วัตถุของกลาง 20,000 เม็ด นั้น มีการแบ่งแยกบรรจุตามสีของเม็ดวัตถุและสีของถุงพลาสติกที่บรรจุมาก่อน โดยวัตถุเม็ดสีส้มจำนวน 1,980 เม็ด และสีเขียว 20 เม็ด ของกลางในคดีนี้บรรจุซองพลาสติกสีน้ำเงิน 10 ซอง มัดรวมกันเป็น 1 มัด รัดด้วยหนังยาง 

ส่วนวัตถุเม็ดสีส้มอ่อนจำนวน 8,000 เม็ด บรรจุอยู่ในซองพลาสติกสีฟ้า แบ่งเป็น 4 มัด มัดละ 10 ซอง 

กับวัตถุเม็ดสีส้มออกน้ำตาลจำนวน 10,000 เม็ด บรรจุซองพลาสติกสีน้ำเงินแบ่งเป็น 5 มัด มัดละ 10 ซอง 

และผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้สุ่มตรวจตามมัดที่บรรจุหีบห่อ ไม่ได้นำออกมาผสมปะปนกัน 

เมื่อได้ความดังนี้ การตรวจหาสารเมทแอมเฟตามีนจากมัดวัตถุเม็ดสีส้ม 1,980 เม็ด และเม็ดสีเขียว 20 เม็ด ซึ่งบรรจุรวมกันเป็น 1 มัด โดยนำเม็ดวัตถุออกจากมัดดังกล่าวร้อยละ 10 หรือ 200 เม็ด จาก 2,000 เม็ด ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างกระจายไปตามซองที่บรรจุอยู่ในมัดซองละ 20 เม็ด ย่อมทำให้ตัวอย่างเม็ดวัตถุที่เก็บมาจากแต่ละซอง สามารถเฉลี่ยเป็นตัวแทนของเม็ดวัตถุที่อยู่ในซองแต่ละซองในมัดดังกล่าวได้ทั้งหมดตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติ ที่เรียกตัวอย่างที่สุ่มออกมานั้นว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรที่วิจัย 

และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้ตรวจพิสูจน์ว่า พยานได้นำตัวอย่างเม็ดวัตถุออกมาซองละประมาณ 20 เม็ดทุกซอง ทุกรายการ นำมาทำการตรวจสอบ มิได้กระจุกอยู่ที่ซองใดซองหนึ่งหรือมัดใดมัดหนึ่งโดยเฉพาะ 

ดังนั้น ปริมาณสารเมทแอมเฟตามีนที่คำนวณได้ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ จึงเป็นไปตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติที่รับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) มาตรา 66 วรรคสาม นั้น ชอบด้วยผลแล้ว ฎีกาและฎีกาเพิ่มเติมในภายหลังของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ที่มา ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542