โรงเรียนให้นักเรียนออกกลางคันในระหว่างการศึกษาภาคบังคับ เป็นการกระทำละเมิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564)

ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ "การศึกษาภาคบังคับ" "สถานศึกษา" "เด็ก" แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 

จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับ จึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชน ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ 

มูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียน แสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียน มีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 

เป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษา จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค 

ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น 

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน จึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 

จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียน กับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432

ที่มา
ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  มาตรา 50
บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  (1) ...
  ...
  (4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ...
  มาตรา 54 วรรคหนึ่ง รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

- พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
  มาตรา 17
ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภท การศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเอกชนในด้านการศึกษา

- พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545
  มาตรา 4
ในพระราชบัญญัตินี้
  "การศึกษาภาคบังคับ" หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

- พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550
  มาตรา 24
เมื่อได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบแล้ว ให้โรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคล
  มาตรา 39 ผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
  (1) ...
  ...
  (4) จัดทำทะเบียนครู บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ นักเรียน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
  ...
  (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับวิชาการตามระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ รวมทั้งตราสารจัดตั้ง นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับของโรงเรียน และหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 420
ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
  มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
  มาตรา 432 ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
  อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
  ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
  มาตรา 1167 ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542