แม้จดทะเบียนหย่าแล้วแต่ยังอยู่กินฉันสามีภริยา ฆ่าชู้โดยบันดาลโทสะ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2564)

จำเลยใช้ไม้เหลี่ยมยาว 1 เมตร ตีศีรษะผู้ตายโดยแรง 2-3 ครั้ง โดยจำเลยมองเห็นผู้ตายได้ดีและมีโอกาสเลือกตีอวัยวะส่วนอื่น แต่จำเลยกลับเลือกตีศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญหลายครั้ง ถึงกับเป็นเหตุให้กะโหลกศีรษะด้านซ้ายและส่วนฐานด้านซ้ายแตกร้าวรุนแรง 

จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลย จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288

แม้จำเลยและนาง อ. จะจดทะเบียนหย่ากัน แต่จำเลยและนาง อ. ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยากันหลังจากจดทะเบียนหย่า พฤติการณ์ที่จำเลยเข้ามาภายในบ้านที่เกิดเหตุ แล้วเห็นผู้ตายอยู่กับนาง อ. ในเวลากลางคืนในลักษณะชู้สาว เป็นการที่จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้ตีศีรษะผู้ตายในขณะนั้น ย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

ที่มา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2582/2564, เนติบัณฑิตยสภา คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 2 หน้า 450 - 464

- ประมวลกฎหมายอาญา

  มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
  กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
  ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
  กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
  การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

  มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

  มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542