เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการยักยอก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2565)

การเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกและเป็นละเมิดในทางแพ่งนั้น การใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องกระทำโดยการคืนทรัพย์สินที่ยักยอกแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นลำดับแรก กรณีไม่อาจคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงจะมีสิทธิเรียกให้ผู้ทำละเมิดใช้ราคาทรัพย์สินแทนเป็นลำดับถัดมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง 

คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายรวม 19 ลำดับ แก่โจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แสดงว่าขณะฟ้องทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งหมด รวมทั้งสะพานไม้รอบบ่อ ยังอยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามสามารถคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ ทั้งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นของโจทก์ร่วม เริ่มตั้งแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าร่วมไกล่เกลี่ยตกลงให้โจทก์ร่วมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารที่เช่า ตลอดจนอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ร่วมก็มิได้โต้แย้งหรือเบิกความคัดค้านว่าสะพานไม้รอบบ่อสูญหาย หรือบุบสลายหรือถูกทำลายจนไม่อยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามจะคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ 

โจทก์ร่วมเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ดูแลรักษาสะพานไม้รอบบ่อขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามจนสะพานไม้รอบบ่อได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในสภาพเดิม โจทก์ร่วมจึงไม่ขอรับสะพานไม้รอบบ่อคืนจากจำเลยทั้งสาม โดยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาแทนโจทก์ร่วมสถานเดียว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม

จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ให้ โดยการยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญาในฐานความผิดที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ก็แต่เฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น 

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริต ตลอดจนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง

การที่โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าประกอบกิจการร้านอาหารในที่ดินและอาคารที่เช่าของจำเลยที่ 1 เป็นผลมาจากโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่าที่ดินและอาคารต่อกันแล้ว ก่อนเกิดเหตุกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมขาดรายได้จากการขายอาหาร จึงมิได้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง จึงไม่อาจนำค่าขาดรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายอาหารมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามชดใช้แก่โจทก์ร่วมได้ 

อย่างไรก็ตาม ตามคำขอของโจทก์ร่วมดังกล่าว พออนุโลมได้ว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมดแทนที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปใช้เป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งสาม ในลักษณะเป็นค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยทั้งสาม

ที่มา
- ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา


- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 438 วรรคสอง "อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้เกิดขึ้นนั้นด้วย" 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
  มาตรา 40 "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง"  
  มาตรา 43 "คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก หรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย"
  มาตรา 44/1 "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
  การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
  คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 
  มาตรา 225 วรรคหนึ่ง "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย"
  มาตรา 252 "ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 250 กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542