ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ นับอายุความตามมูลหนี้เดิม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2564)

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นำหนี้ตามสัญญากู้เงินมาทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระและระยะเวลาการชำระหนี้ใหม่เท่านั้น ไม่มีข้อความใดแสดงเจตนาให้หนี้เดิมระงับสิ้นไป แล้วมาบังคับกันใหม่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แต่อย่างใด เมื่อไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ การนับอายุความต้องถือตามมูลหนี้เดิมแต่ละมูลหนี้

เมื่อหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีเงื่อนไขให้ผ่อนชำระเงินกู้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน จึงเป็นหนี้เงินที่ต้องผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีอายุความ 5 ปี

และจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ซึ่งครบอายุความ 5 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2556 โจทก์ฟ้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 เกินกว่า 5 ปี หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินขาดอายุความแล้ว

ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีอายุความ 10 ปี จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) โจทก์ฟ้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันดังกล่าว หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ขาดอายุความ

ที่มา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1062/2564, เนติบัณฑิตยสภา คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 12 หน้า 3117 - 3135


- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 193/14
อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
  (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
  (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
  (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
  (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
  (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี

  มาตรา 193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
  (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
  (2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
  (3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
  (4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
  (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542