ศาลอาญาพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2564)
คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลอาญา กรณีร่วมกันเสนอราคาโดยกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ โดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้คืนคำฟ้องให้โจทก์ไปดำเนินการตามที่บทกฎหมายบัญญัติไว้
ที่มา คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2564, เนติบัณฑิตยสภา หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 6 หน้า 1314 - 1320
ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้คืนคำฟ้องให้โจทก์ไปดำเนินการตามที่บทกฎหมายบัญญัติไว้
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง เพราะศาลอาญารับฟ้องไว้พิจารณาจนกระทั่งมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสาม และศาลฎีกาชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีไปศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเทียบเคียงปรับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 13
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พ.ศ. 2559 ให้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเปิดทำการแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 10 บัญญัติว่า "เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา" ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา จึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว
และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจคดีนี้ ไม่อาจโอนคดีนี้ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องการโอนคดีไว้ ทั้งต่อมาประธานศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าให้เทียบเคียงปรับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 นั้น เห็นว่า มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ศาล หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น เช่นนี้ เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ต่างเป็นศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เรื่องระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันจะนำมาปรับใช้กับคดีนี้ดังที่โจทก์อ้างได้
ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่วันฟ้อง และให้คืนฟ้องโจทก์ไปดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงชอบแล้ว พิพากษายืน
ที่มา คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2564, เนติบัณฑิตยสภา หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 6 หน้า 1314 - 1320
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น