สรุปคำบรรยายเนติ 1/75 กฎหมายภาษีอากร (ครั้งที่ 4)


สรุปคำบรรยายเนติ 1/75
วิชากฎหมายภาษีอากร (ครั้งที่ 4)
จาก บรรยายเนติบัณฑิตออนไลน์ เมื่อวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565
บรรยายโดย อ.วิชัย จิตตาณิชย์
***************************

วันนี้เป็นการบรรยาย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อจากคราวที่แล้ว ในเรื่อง หลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้เสียภาษี (Connection หรือ Nexus Rule) ซึ่งมีอยู่ 3 หลัก คือ
  1. หลักสัญชาติ (Nationality Rule) เมื่อมีสัญชาติของประเทศใด ต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้น 
  2. หลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule) หรือหลักเงินได้ทั่วโลก เมื่อมีถิ่นที่อยู่ในประเทศใด ต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้น 
  3. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) หรือหลักอาณาเขต เมื่อมีเงินได้จากประเทศใด ต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้น

- ประเทศไทย ใช้หลักที่ 2 และ 3 และใช้ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 
  - ใช้หลักถิ่นที่อยู่ (มาตรา 41 วรรคสอง และวรรคสาม)
  - ใช้หลักแหล่งเงินได้ (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
  - ถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ใช้หลักถิ่นที่อยู่ (มาตรา 66 วรรคหนึ่ง)
  - ถ้าเป็นบริษัทต่างประเทศ ใช้หลักแหล่งเงินได้ (มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง , มาตรา 70 , มาตรา 76 ทวิ)

ตัวอย่าง ธ.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักถิ่นที่อยู่ โดยเสียภาษีจากเงินได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (World Wide Income) และเป็นการเสียภาษีตามหลักการเกิดเงินได้ (Arising Basis) คือ เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้น ต้องเสียภาษี โดยไม่คำนึงว่าจะนำหรือโอนเงินได้ทั้นเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่

หลัก Arising Basis ใช้กับภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา 41 วรรคสอง ใช้หลักการนำหรือโอนเงินได้ (Remittance Basis) ถ้าผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่มีเงินได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศ จะเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีการนำหรือโอนเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย

ตัวอย่าง บริษัท เอ จำกัด จดทะเบียนในประเทศสวีเดน ได้เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย เมื่อสาขาประกอบกิจการมีรายได้ ต้องนำรายได้เฉพาะที่เกิดจากการประกอบกิจการของสาขาในประเทศไทย มาเสียภาษีตามหลักแหล่งเงินได้

ต่อไปอาจารย์อธิบายลงรายละเอียด
หลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule) 
  มาตรา 41 วรรคสาม "ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย"
- ผู้ใด จะเป็นใครก็ได้ ไม่คำนึงถึงสัญชาติ จะมีสัญชาติใดก็ได้
- 180 วัน ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดต่อกัน อาจอยู่หลายชั่วระยะเวลา แต่เมื่อรวมกันถึง 180 วันในปีภาษีใด (ปีปฏิทิน) ให้ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ถ้าไม่ถึง 180 วัน ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

ตัวอย่าง คนที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ. 2564 ไปทำงานที่ต่างประเทศ ทำให้อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม จึงไม่ต้องเสียภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่ ส่วนจะต้องเสียภาษีตามหลักแหล่งเงินได้หรือไม่ ก็จะต้องไปพิจารณาอีกทีหนึ่ง คือ มีเงินได้จากแหล่งในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง***

  ผลของการเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย มาตรา 41 วรรคสอง บัญญัติให้ต้องเสียภาษี 
  มาตรา 41 วรรคสอง "ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย"
- เมื่อเป็น "ผู้อยู่ในประเทศไทย" และมีเงินได้ในต่างประเทศ หากนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ก็ต้องเสียภาษีเงินได้

- มาตรา 41 วรรคสอง แยกได้ 3 กรณี คือ 
  1) เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ คือ มีเงินได้จากการไปเป็นลูกจ้าง/รับจ้าง มีลักษณะเป็นเงินได้จากการให้บริการส่วนบุคคล (Personal Service) ทั้งที่เป็นอิสระ (Independent Personal Service) เช่น รับจ้างให้คำปรึกษากฎหมาย รับทำบัญชี และไม่เป็นอิสระ (Dependent Personal Service) เช่น ลูกจ้าง
  2) เงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในต่างประเทศ คือ มีเงินได้จากการประประกอบธุรกิจหรือประกอบกิจการในต่างประเทศ เช่น เปิดร้านอาหาร/ร้านค้า
  3) เงินได้เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ คือ มีทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศ และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้ขึ้น เช่น ซื้ออพาร์ทเม้นท์ในสิงคโปร์เพื่อเก็บค่าเช่า , ดอกเบี้ยจากเงินฝากในบัญชีธนาคารอังกฤษ , เงินปันผลจากหุ้นเทสลาที่ซื้อในสหรัฐอเมริกาหรือเงินจากการขายหุ้น

- การนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องนำเงินสดเข้ามาเท่านั้น แต่รวมถึงการโอนเงินหรือกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ในประเทศไทย
ตัวอย่าง บริษัท เอ ในสหรัฐอเมริกา ได้จ้างนาย ก. ไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน ตกลงค่าจ้างเดือนละ 100,000 บาท โดยบริษัท เอ โอนเงินเดือนให้กับภริยาของนาย ก. ในประเทศไทยทุกเดือน นาย ก. จะต้องนำเงินเดือน 400,000 บาท มาเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่ ?
ตอบ นาย ก. ไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา 4 เดือน อยู่ในประเทศไทย 8 เดือน เกิน 180 วัน จึงเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม เมื่อบริษัท เอ โอนเงินเดือนให้ภริยาของนาย ก. ในประเทศไทย ถือว่าเป็นการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย นาย ก. จึงต้องนำเงินเดือน 400,000 บาท มาเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสอง 

ตัวอย่าง การนำเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับปีที่มีเงินได้ จะแตกต่างกับการนำเงินได้เข้ามาในปีภาษีอื่นหรือไม่ ?
ตอบ มาตรา 41 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่าจะเป็นการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อใด ซึ่งกรมสรรพากรตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้มีเงินได้ คือ หากนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ภายหลังจากปีที่เกิดเงินได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษี

ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นาย ข. เดินทางไปประเทศฟินแลนด์ และวันที่ 1 ธันวาคม 2564 นาย ข. เดินทางกลับประเทศไทย ในระหว่างที่อยู่ในประเทศฟินแลนด์ นาย ข. มีเงินได้จากการทำงาน 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นาย ข. โอนเงินได้ 100,000 บาท เข้ามาในประเทศไทย
ตอบ นาย ข. อยู่ฟินแลนด์ 2 เดือน จึงเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เมื่อมีเงินได้ในต่างประเทศ และโอนเงินได้เข้าประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ จึงต้องนำเงินได้ 100,000 บาท มาเสียภาษี (แต่ถ้าโอนเงินเข้ามาในประเทศไทยในปีอื่น 2565 , 2566 ... นาย ข. ไม่ต้องนำเงินได้มาเสียภาษี)

แต่ก็มีแนวคิดอีกฝ่ายหนึ่งว่า เมื่อมีเงินได้ในต่างประเทศแล้ว แม้จะนำเข้ามาในประเทศไทยปีภาษีใดก็ตาม ก็ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย

ซึ่งการตีความของกรมสรรพากรเป็นคุณกว่า จึงสอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายภาษีอากร ว่าหากบทบัญญัติกฎหมายภาษีอากรไม่ชัดแจ้ง คลุมเครือหรือตีความได้หลายนัย จะต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เสียภาษี

ผู้อยู่ในประเทศไทย + มีเงินได้ในต่างประเทศ + นำเงินได้เข้าประเทศไทย (ปีเดียวกัน) = เสียภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่ มาตรา 41 วรรคสอง

ตัวอย่าง วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2564 นาย ค. เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ และเปิดร้านขายอาหาร มีรายได้ 500,000 บาท นาย ค. ได้โอนเงิน 200,000 บาท เข้ามาในประเทศไทย 
  วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2564 นาย ค. เดินทางกลับและอยู่ในประเทศไทย ส่วนร้านอาหารยังคงเปิดดำเนินการต่อ มีรายได้อีก 300,000 บาท
  วันที่ 1 กันยายน ถึง 31 ธันวาคม 2564 นาย ค. เดินทางกลับไปประเทศสิงคโปร์ และมีรายได้จากร้านอาหารอีก 600,000 บาท นาย ค. โอนเงินอีก 400,000 บาท เข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกัน
ดังนี้ นาย ค. ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องพิจารณาทั้งหลักถิ่นที่อยู่และหลักแหล่งเงินได้ สำหรับหลักถิ่นที่อยู่ ต้องดูว่า นาย ค. เป็นอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน หรือไม่เสียก่อน ซึ่งปรากฏว่าในปี 2564 นาย ค. อยู่ในประเทศไทย วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2564 ไม่ถึง 180 วัน นาย ค. จึงไม่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม เมื่อไม่ใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย จึงไม่อาจนำมาตรา 41 วรรคสอง มาใช้บังคับ แม้จะมีเงินได้ในต่างประเทศและโอนเงิน 600,000 บาท เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้ก็ตาม ต่อไปต้องพิจารณาว่าเงินได้ดังกล่าว จะต้องนำมาเสียภาษีตามหลักแหล่งเงินได้หรือไม่ เมื่อเงินได้ดังกล่าวไม่ได้เกิดที่ประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นาย ค. ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย

หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) 
  มาตรา 41 วรรคหนึ่ง "ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ"
- มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ไม่ได้จำกัดว่าต้องมีสัญชาติไทย จึงหมายถึงผู้มีเงินได้ทุกคน

- มาตรานี้ ไม่ได้พูดถึงถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และไม่ว่าจะอยู่นานแค่ไหน ก็ไม่ต้องนำมาพิจารณา

- มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงว่า หากบุคคลใดมีเงินได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 4 กรณีนี้ ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย ตามหลักแหล่งเงินได้ 
  1) มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย คือ เข้ามาเป็นลูกจ้างหรือรับทำงานให้ในประเทศไทย เช่น ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นลูกจ้างหรือรับทำงานให้ในประเทศไทย ทั้งสัญญาจ้างแรงงาน จ้างทำของ ตัวแทน หรือนายหน้าก็ได้ โดยไม่คำนึงว่านายจ้างหรือผู้ว่าจ้างจะอยู่ในประเทศไทยหรือไม่
  2) มีเงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในประเทศไทย คือ เข้ามาประกอบธุรกิจหรือประกอบกิจการในประเทศไทย เช่น ชาวอินเดีย เข้ามาเปิดร้านอาหารอินเดียในประเทศไทย แม้ผู้ประกอบกิจการจะไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศก็ตาม
  3) มีเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย คือ กรณีผู้มีเงินได้ทำงานในต่างประเทศ ให้แก่นายจ้างในประเทศไทย เช่น บริษัทในประเทศไทยได้ทำสัญญาว่าจ้างบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ ให้เป็นตัวแทนหาลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อซื้อสินค้าจากบริษัทในประเทศไทย ค่าตอบแทนที่ลูกจ้างได้รับตามสัญญา ถือเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย , นายจ้างส่งลูกจ้างไปทำงานที่สาขาในต่างประเทศ
  ***ปัจจุบันดูว่า กิจการของนายจ้างในประเทศไทยจ่ายค่าจ้างหรือไม่ ถ้าจ่าย ก็ถือว่าพนักงานมีเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามข้อนี้ (ถ้าสาขาของกิจการนายจ้างที่ต่างประเทศ เป็นผู้จ่ายค่าจ้างเอง ก็ไม่ถือว่ามีเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย)
  4) มีเงินได้เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย คือ มีทรัพย์สินในประเทศไทย และก่อให้เกิดเงินได้ขึ้น เช่น นายวลาดิเมียร์ ชาวรัสเซีย เข้ามาซื้อบ้านที่ภูเก็ต แล้วให้เช่า ค่าเช่าที่ได้รับต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย โดยไม่คำนึงว่านายวลาดิเมียร์ จะอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน หรือไม่ เพราะการเก็บภาษีตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง เป็นการเก็บตามหลักแหล่งเงินได้

- มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ไม่คำนึงถึงสถานที่ในการจ่ายเงิน ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 201/2559 โจทก์เป็นคนต่างประเทศ เข้ามากำกับภาพยนตร์ตามที่บริษัท ท. ว่าจ้าง ในประเทศไทย ถือว่าโจทก์ทำงานในประเทศไทย ค่าจ้างที่ได้รับจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (2) อันเกิดจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย ไม่ว่าจะได้รับค่าจ้างในหรือต่างประเทศ ก็ต้องถือว่าโจทก์มีแหล่งเงินได้ในประเทศไทย และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย

***จบการบรรยายครั้งที่ 4***
คลิกอ่าน ครั้งที่ 1 , 2 , 3 , 4

ที่มา YouTube บรรยายเนติบัณฑิตออนไลน์ (คลิกลิงก์)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542