ละเมิดอำนาจศาลปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คล.1/2564)


คดีนี้เกิดขึ้นจาก นาย น. ข้าราชการ ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในระดับชำนาญการพิเศษ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ต่อมา ก.พ.ค. วินิจฉัยยกคำร้องทุกข์ นาย น. จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัย ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำพิพากษายกฟ้อง

นาย น. จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยคำอุทธรณ์บางช่วงมีข้อความว่า "คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักนิติรัฐ เกินล้ำออกนอกขอบเขตความชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกา 3509/2549) และเจตนาบิดผันอำนาจขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์บทบัญญัติมาตรา 13 (1) และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539" และ "คำพิพากษาดังกล่าว... เจตนาเลี่ยงบาลีในการเขียนคำพิพากษา"

ศาลปกครองชั้นต้น (องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี) พิจารณาคำอุทธรณ์แล้ว เห็นว่าข้อความมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นศาลซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงมีคำสั่งให้ไต่สวนนาย น. (ผู้ถูกกล่าวหา) เกี่ยวกับกรณีที่ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล

นาย น. ให้ถ้อยคำต่อศาลว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ถ้อยคำดังกล่าวมีเจตนาเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่เมื่อได้มาทบทวนถ้อยคำแล้วเห็นว่าเป็นการเขียนถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทศาลแต่อย่างใด หากรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่เหมาะสม ก็จะไม่เขียนลงในคำอุทธรณ์

ศาลปกครองชั้นต้น (องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี) พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความดังกล่าว มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทศาล และเมื่อคำอุทธรณ์ได้ยื่นต่อศาล กรณีจึงถือว่านาย น. ได้กระทำผิดต่อหน้าศาล และถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 8 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ประกอบมาตรา 30 และมาตรา 31 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งลงโทษนาย น. ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยกำหนดโทาปรับตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงได้เสนออธิบดีศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาส่งสำนวนให้องค์คณะอื่นพิจารณามีคำสั่งต่อไป ตามมาตรา 64 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ศาลปกครองชั้นต้น (องค์คณะพิจารณาและสั่งลงโทษ) พิจารณาแล้ว เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าว ไม่ใช่การวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่มีลักษณะเป็นการกล่าวหาและเสียดสีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองและศาลปกครองให้ขาดความน่าเชื่อถือ เสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อนาย น. ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้เรียบเรียงและลงชื่อในคำอุทธรณ์และได้มีการยื่นต่อศาลปกครอง จึงถือว่านาย น. ผู้ถูกกล่าวหา กระทำการในลักษณะโต้แย้งคำพิพากษาของศาลโดยวิธีการใด ๆ ที่มิได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย อันเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาล ตามข้อ 1 ของข้อกำหนดอธิบดีศาลปกครองกลาง เรื่อง การรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 31 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงชอบที่ศาลมีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ตามนัยมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 8 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และเมื่อพิจารณาพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ปัจจุบันเป็นข้าราชการ.. ย่อมถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีวุฒิภาวะและความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี และโดยที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยถูกลงโทษละเมิดอำนาจศาลมาก่อน การกระทำคราวนี้จึงเป็นความผิดครั้งแรก กรณีมีเหตุบรรเทาโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา จึงสมควรลงโทษปรับผู้ถูกกล่าวหา

ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งปรับผู้ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นเงิน 5,000 บาท โดยให้ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ดำเนินการตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งลงโทษกรณีละเมิดอำนาจศาล ว่าถ้อยคำในคำอุทธรณ์ที่มีข้อความว่า "คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักนิติรัฐ เกินล้ำออกนอกขอบเขตความชอบด้วยกฎหมาย" คัดลอกข้อความจากคำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2549 เพื่ออ้างอิงหลักกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ มิได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นการใช้ดุลพินิจขององค์คณะพิจารณาคดี และผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำการอันเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งปรับ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกเลิกคำสั่งกรณีละเมิดอำนาจศาล หรือมีคำสั่งปรับในสถานเบา

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้นำบทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเมื่อมีการละเมิดอำนาจศาล ให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งลงโทษได้ดังนี้ (1) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ (2) ไล่ออกจากบริเวณศาล (3) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง บัญญัติว่า การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล พึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสังลงโทษตาม (3) ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ และมาตรา 65 บัญญัติว่า ผู้ใดวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล...

ศาลเห็นว่า ข้อความที่ระบุว่า "...เจตนาบิดผันอำนาจขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์บทบัญญัติมาตรา 13 (1) และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539" และข้อความที่ว่า "คำพิพากษาดังกล่าว... เจตนาเลี่ยงบาลีในการเขียนคำพิพากษา" ทำให้เข้าใจไปว่า ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นที่พิจารณาคดีดังกล่าว พิจารณาคดีไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย บิดเบือนข้อกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือเป็นการแสดงเหตุผลเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นและเสียดสีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองชั้นต้นที่พิจารณาคดีดังกล่าว อันมิใช่การวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเมื่อคำอุทธรณ์ดังกล่าวได้ยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้น กรณีจึงถือว่าได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 31 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อีกด้วย ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจสั่งลงโทษตักเตือน ลงโทษไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า สมควรได้รับการลงโทษสถานใด เห็นว่าในขณะที่ได้ยื่นอุทธรณ์ เป็นข้าราชการ ระดับชำนาญการ.. อายุ 57 ปี ย่อมมีความรู้ความเข้าใจถึงการดำเนินคดีในศาล รวมถึงย่อมต้องมีวุฒิภาวะอย่างเพียงพอที่จะไม่กระทำการอย่างใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย และโดยที่ไม่ปรากฏว่าเคยถูกลงโทษละเมิดอำนาจศาลมาก่อน การกระทำในครั้งนี้จึงเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก จึงเห็นว่ายังไม่ถึงขนาดที่จะลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษสถานหนัก ดังนั้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งปรับเป็นเงิน 5,000 บาท จึงเป็นระดับโทษที่เหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

ที่มา คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คล. 1/2564 เว็บไซต์ศาลปกครอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542