สาระสำคัญ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ฉบับเตรียมสอบ)


1. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 โดยมีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ

2. พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (หรือตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป) ตรงกับสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

3. โครงสร้างกฎหมาย แบ่งเป็น 7 หมวด กับ 1 บทเฉพาะกาล (รวม 43 มาตรา)

4. บทนิยาม
“ข้อมูลข่าวสาร” หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือสิ่งใด ๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่านวิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้

“ข้อมูลข่าวสารของราชการ” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ

“ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.)

“คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
  และนิติบุคคลดังต่อไปนี้
  (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ที่มีทุนเกินกึ่งหนึ่งเป็นของคนต่างด้าว (ใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ให้ถือว่าใบหุ้นนั้นคนต่างด้าวเป็นผู้ถือ)
  (2) สมาคม ที่มีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว
  (3) สมาคมหรือมูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคนต่างด้าว
  (4) นิติบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือนิติบุคคลอื่นใด ที่มีผู้จัดการหรือกรรมการ เกินกึ่งหนึ่งเป็น คนต่างด้าว
  นิติบุคคลดังกล่าว ถ้าเข้าไปเป็นผู้จัดการหรือกรรมการ สมาชิก หรือมีทุนในนิติบุคคลอื่น ให้ถือว่าผู้จัดการ กรรมการ สมาชิก หรือเจ้าของทุนดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว

5. นายกรัฐมนตรี รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้
  (กฎกระทรวง เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้)

6. ให้จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่
  1) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการ
  2) ปฏิบัติงานธุรการ ให้แก่
    - คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.)
    - คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.)
  3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ
  4) ให้คำปรึกษาแก่เอกชน เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้
  
หมวด 1 การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (มาตรา 7 – 13)
7. (มาตรา 7) หน่วยงานของรัฐ ต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการ (อย่างน้อยดังต่อไปนี้) ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
  1) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
  2) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ และวิธีการดำเนินงาน
  3) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสาร หรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
  4) กฎ มติครม. ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบาย หรือการตีความ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้น ที่มีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
  ข้อมูลข่าวสารข้อนี้ ถ้ายังไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จะนำมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ใดไม่ได้ (เว้นแต่ผู้นั้นจะได้รู้ข้อมูลข่าวสารนั้นตามความเป็นจริงมาก่อนแล้ว เป็นเวลาพอสมควร)
  5) ข้อมูลข่าวสารอื่น ตามที่ กขร. กำหนด

- ข้อมูลข่าวสารใด มีการจัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว ถ้ามีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาโดยอ้างอิงถึงสิ่งพิมพ์นั้น ก็ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามมาตรานี้แล้ว

- ให้หน่วยงานของรัฐ รวบรวมและจัดให้มีข้อมูลข่าวสารข้างต้น ไว้เผยแพร่ (เพื่อขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก) ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐนั้นตามที่เห็นสมควร

8. (มาตรา 9) หน่วยงานของรัฐ ต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ (อย่างน้อยดังต่อไปนี้) ไว้ให้ ปชช. เข้าตรวจดูได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ กขร. กำหนด
  1) ผลการพิจารณา หรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
  2) นโยบายหรือการตีความ ที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา (สภาพอย่างกฎ)
  3) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของปีที่กำลังดำเนินการ
  4) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
  5) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว (ที่ได้จัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว)
  6) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด ตัดตอน หรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
  7) มติ ครม. หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมายหรือโดยมติ ครม. ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
  8) ข้อมูลข่าวสารอื่น ตามที่ กขร. กำหนด

- ข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ ปชช. เข้าตรวจดูได้ข้างต้น ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยรวมอยู่ด้วย ให้ลบ หรือ ตัดทอน หรือทำโดยวิธีอื่น ที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น

- บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม มีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ (หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของ กขร. จะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น)

- คนต่างด้าว จะมีสิทธิตามมาตรานี้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

9. มาตรา 7 และมาตรา 9 ดังกล่าว ไม่กระทบถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มี การเผยแพร่หรือเปิดเผยด้วยวิธีการอย่างอื่น

10. (มาตรา 11) ข้อมูลข่าวสารอื่นของราชการหรือที่จัดทำขึ้นใหม่ตามคำขอ ถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นของราชการ (นอกเหนือจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 7) หรือที่จัดไว้ ให้ ปชช. เข้าตรวจดูได้ (มาตรา 9) หรือที่มีการจัดให้ ปชช. ได้ค้นคว้า (มาตรา 26)) และคำขอนั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้น ให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร (เว้นแต่ผู้นั้นจะขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร)

- ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้วในสภาพพร้อมจะให้ได้ ไม่ใช่ต้องไปจัดทำ/วิเคราะห์/จำแนก/รวบรวม/จัดให้มีขึ้นใหม่ (เว้นแต่เป็นการแปรสภาพเป็นเอกสาร จากข้อมูลข่าวสารที่บันทึกไว้ในระบบการบันทึกภาพ เสียง ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบอื่น ตามที่ กขร. กำหนด)
  แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่า กรณีที่ขอนั้น ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ทางการค้า และเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้นั้น หรือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หน่วยงานของรัฐจะจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ก็ได้ (แม้จะต้องไปจัดทำขึ้นใหม่ก็ตาม)
  นอกจากนี้ หากเป็นการสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามปกติของหน่วยงานของรัฐแล้ว ก็ไม่ห้ามหน่วยงาน ของรัฐที่จะจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการขึ้นใหม่ให้แก่ผู้ร้องขอ

- ข้อมูลข่าวสารของราชการใดมีสภาพที่อาจบุบสลายง่าย หน่วยงานของรัฐจะขอขยายเวลาในการจัดหาให้ หรือจะจัดทำสำเนาให้ในสภาพอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้

- ข้อมูลข่าวสารอื่นหรือที่จัดทำขึ้นใหม่นี้ ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยรวมอยู่ด้วย ให้ลบ หรือตัดทอน หรือทำโดยวิธีอื่น ที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น

- บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม มีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารอื่นหรือที่ต้องทำขึ้นใหม่ได้ (หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของ กขร. จะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น)

- คนต่างด้าว จะมีสิทธิตามมาตรานี้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

- ถ้ามีผู้ยื่นคำขอตามมาตรานี้ แม้ว่าข้อมูลข่าวสารจะอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานส่วนกลาง/ส่วนสาขาของหน่วยงานแห่งนั้น หรือจะอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นก็ตาม ให้หน่วยงานของรัฐ ที่รับคำขอ ให้คำแนะนำเพื่อไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นโดยไม่ชักช้า

- ถ้าหน่วยงานของรัฐผู้รับคำขอ เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่มีคำขอ เป็นข้อมูลข่าวสารที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น และได้ระบุห้ามการเปิดเผยไว้ตามระเบียบที่กำหนดตามมาตรา 16 ให้ส่งคำขอนั้นให้หน่วยงานของรัฐผู้จัดทำข้อมูลข่าวสารนั้นพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

11. ผู้ใด เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 7) หรือไม่จัดไว้ให้ ปชช. เข้าตรวจดูได้ (มาตรา 9) หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน (มาตรา 11) หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อ กขร. เว้นแต่ เป็นเรื่องดังต่อไปนี้
  1) เกี่ยวกับการมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา 15
  2) คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน ตามมาตรา 17
  3) คำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามมาตรา 25
  - กขร. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องเรียน (ถ้ามีเหตุจำเป็น ให้ขยายเวลาได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลและรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน)

หมวด 2 ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย (มาตรา 14 – 20)

12. (มาตรา 14) ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเปิดเผยมิได้

13. (มาตรา 15) หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่มีลักษณะต่อไปนี้ก็ได้ (โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน)
  1) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
  2) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ (ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มา ของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม)
  3) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด
  (แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็น หรือคำแนะนำภายในดังกล่าว)
  4) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อ ชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
  5) รายงานการแพทย์ หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดย ไม่สมควร
  6) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
  7) กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

- คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ จะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แต่ต้องระบุด้วยว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใด

- การมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ถือเป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญชา แต่ผู้ขออาจอุทธรณ์ต่อ กวฉ. ได้

14. หน่วยงานของรัฐ ต้องกำหนดวิธีการคุ้มครองข้อมูลข่าวสาร ว่าข้อมูลข่าวสารของราชการ จะเปิดเผยต่อบุคคลใดได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขใด และวิธีรักษามิให้รั่วไหล ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ ครม. กำหนด ว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ

15. (มาตรา 17) ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใด อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใด ให้แจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้าน ภายในเวลาที่กำหนด (ต้องให้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง)

- ผู้ที่ได้รับแจ้ง หรือผู้ที่ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตน มีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ โดยทำเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ ของรัฐต้องพิจารณาคำคัดค้านและแจ้งผลการพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้ามีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่ ของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ได้ จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 18 หรือจนกว่า กวฉ. มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยได้

16. (มาตรา 18) ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 หรือ มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสียตามมาตรา 17 ผู้นั้นอาจอุทธรณ์ต่อ กวฉ. ได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อ กขร.

17. การพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผย (ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาของ กขร. กวฉ. หรือศาล) ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิให้ข้อมูลข่าวสารนั้นเปิดเผยแก่บุคคลอื่นที่ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา
- ในกรณีจำเป็น จะพิจารณาลับหลังคู่กรณี/คู่ความก็ได้

18. (มาตรา 20) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด แม้จะเข้าข่ายต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใด ให้ถือว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดหากกระทำโดยสุจริต ดังต่อไปนี้ (แต่หน่วยงานของรัฐไม่พ้นความรับผิด)
  1) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบตามมาตรา 16
  2) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีคำสั่งให้เปิดเผย เป็นการทั่วไป หรือเฉพาะแก่บุคคลใด เพื่อประโยน์อันสำคัญยิ่งกว่าที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรือประโยชน์อื่นของบุคคล และคำสั่งนั้นได้กระทำโดยสมควรแก่เหตุ

- (มาตรา 41) ผู้ใดฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติตาม ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมวด 3 ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล (มาตรา 21 – 25)
19. คำว่า “บุคคล” ในหมวดนี้ หมายถึง
  1) บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย
  2) บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

- สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่กำหนด ในกฎกระทรวง อาจออกระเบียบ (โดยความเห็นชอบของ กขร.) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่มิให้ นำบทบัญญัติมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) มาใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลได้(หน่วยงานของรัฐอื่น ต้องถึงขนาดที่การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อ การดำเนินงาน)

20. (มาตรา 23) หน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัด ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ดังต่อไปนี้
  (1) จัดให้มี ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็น เพื่อการดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และยกเลิกระบบเมื่อหมดความจำเป็น
  (2) พยายามเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น
  - การเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรง ต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบล่วงหน้าหรือพร้อมกับการขอข้อมูล เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่จะนำข้อมูลมาใช้ ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ และเป็นกรณีที่อาจให้ข้อมูลได้โดยความสมัครใจหรือกฎหมายบังคับ
  (3) จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอ เกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้
    (ก) ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้
    (ข) ประเภทของ ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
    (ค) ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
    (ง) วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล
    (จ) วิธีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
    (ฉ) แหล่งที่มาของข้อมูล
  (4) ตรวจสอบ แก้ไขข้มูลส่วนบุคคลในความรับผิดชอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ
  (5) จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามความเหมาะสม เพื่อป้องกัน มิให้มีการนำไปใช้ โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล

- หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ ในกรณีมีการให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารได้ (เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ)

21. (มาตรา 24) หน่วยงานของรัฐ จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตน ต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้  เว้นแต่เป็นการเปิดเผย ดังต่อไปนี้
  (1) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตน เพื่อการนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น
  (2) เป็นการใช้ข้อมูลตามปกติ ภายในวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้น
  (3) ต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านการวางแผน การสถิติ หรือสำมะโนต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น
  (4) เป็นการให้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย โดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลใด
  (5) ต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เพื่อการตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษา
  (6) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน การฟ้องคดี
  (7) เป็นการให้ซึ่งจำเป็น เพื่อการป้องกันหรือระงับอันตราย ต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล
  (8) ต่อศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริง
  (9) กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

- การเปิดเผยข้อมูลตาม (3) – (9) ดังกล่าว ต้องจัดทำ บัญชีแสดงการเปิดเผย กำกับไว้กับข้อมูลข่าวสารนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

22. (มาตรา 25) บุคคลมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน

- เมื่อบุคคลมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทน ได้ตรวจดูหรือ ได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น

- ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยรวมอยู่ด้วย ให้ลบ หรือตัดทอน หรือทำโดยวิธีอื่น ที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น

- สิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ (หน่วยงานของรัฐ โดยความเห็นชอบของ กขร. จะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น)

- การเปิดเผยรายงานการแพทย์ ถ้ามีเหตุอันควร เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยต่อเฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้

- บุคคลใด เห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง มีสิทธิยื่นคำขอ เป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลฯ แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบได้ (หน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาคำขอ และแจ้งผลให้ทราบโดยไม่ชักช้า)

- ถ้าหน่วยงานของรัฐ ไม่แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบให้ตรงตามที่มีคำขอ ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ กวฉ. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อ กขร.

23. บุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีสิทธิดำเนินการตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 แทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้วได้
  กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ดังนี้
  (1) ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นผู้เยาว์ ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิดำเนินการแทน แต่ถ้าผู้เยาว์มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เยาว์ด้วย
  (2) ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นคนไร้ความสามารถ ให้ผู้อนุบาลมีสิทธิดำเนินการแทน
  (3) ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถทำการตามมาตรา 23 มาตรา 24 และ มาตรา 25 ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีเหตุอื่นทำนองเดียวกัน ให้ผู้พิทักษ์มีสิทธิดำเนินการแทน
  (4) ถ้าเจ้าของข้อมูลถึงแก่กรรม และมิได้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิดำเนินการแทนตามมาตรา 24 ได้ตามลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
    (4.1) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม
    (4.2) คู่สมรส
    (4.3) บิดาหรือมารดา
    (4.4) ผู้สืบสันดาน
    (4.5) พี่น้องร่วมบิดามารดา
    (4.6) กขร.

หมวด 4 เอกสารประวัติศาสตร์ (มาตรา 26)
24. (มาตรา 26) หน่วยงานของรัฐ ส่งมอบข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะเก็บรักษา หรือมีอายุครบกำหนดต่อไปนี้ ให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนด ในพระราชกฤษฎีกา เพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า
  (1) ข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา 14 เมื่อครบ 75 ปี นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสาร
  (2) ข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา 15 เมื่อครบ 20 ปี นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสาร
  - การขยายกำหนดเวลาข้างต้นได้ดังต่อไปนี้
  (1) หน่วยงานของรัฐ ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารของราชการไว้เอง เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย (โดยต้องจัดเก็บ และจัดให้ ปชช. ได้ศึกษาค้นคว้าตามที่จะตกลงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
  (2) หน่วยงานของรัฐ เห็นว่าข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นยังไม่ควรเปิดเผย โดยมีคำสั่งขยายเวลากำกับไว้เป็นการเฉพาะราย (คำสั่งขยายเวลา ให้กำหนดระยะเวลาไว้ด้วย คราวละไม่เกิน 5 ปี)
  - การตรวจสอบ/ทบทวน มิให้มีการขยายระยะเวลาไม่เปิดเผยจนเกินความจำเป็น ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
  - มาตรานี้ ไม่ใช้กับข้อมูลข่าวสารของราชการที่ ครม. ออกระเบียบให้มีการทำลายได้โดยไม่ต้องเก็บรักษา

หมวด 5 คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (มาตรา 27 – 34)
25. กขร. (ประธาน 1 คน + กรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน + ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน = 23 คน) ประกอบด้วย
  (1) รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน
  (2) – (14) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ
  (15) – (23) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่ง ครม. แต่งตั้ง 9 คน
  - ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1 คน เป็นเลขานุการ และอีก 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

26. กขร. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
  (1) สอดส่อง ดูแล ให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้
  (2) ให้คำปรึกษา เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ตามที่ได้รับคำขอ
  (3) เสนอแนะ ในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง/ระเบียบของ ครม. ตาม พ.ร.บ.นี้
  (4) พิจารณาและให้ความเห็นเรื่องร้องเรียน ตามมาตรา 13
  (5) จัดทำรายงาน เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ เสนอ ครม. เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. นี้
  (7) ดำเนินการเรื่องอื่น ตามที่ ครม. หรือนายกรัฐมนตรี มอบหมาย

- (มาตรา 32) กขร. มีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ ให้ส่งวัตถุ เอกสาร/พยานหลักฐานมาประกอบ การพิจารณาได้ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 40)

- กรณีหน่วยงานของรัฐปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่มีคำขอ (มาตรา 11 , มาตรา 25) ถ้าผู้มีคำขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริงและร้องเรียนต่อ กขร. ให้ กขร. มีอำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการได้ และแจ้งผลกาตรวจสอบให้ผู้ร้องเรียนทราบ (หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยินยอมให้ กขร. หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย เข้าตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ในความครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้หรือไม่ ก็ตาม)

- กขร. จะแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานก็ได้

27. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
- พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ดังนี้
  1) ตาย
  2) ลาออก
  3) ครม. ให้ออก เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
  4) เป็นบุคคลล้มละลาย
  5) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ประมาท/ลหุโทษ

28. การประชุมของ กขร.
  - ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
  - ประธานกรรมการ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานไม่มาประชุม/ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มา เลือกกรรมการ 1 คน เป็นประธานในที่ประชุม
  - การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการ 1 คน มี 1 เสียง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่ม เป็นเสียงชี้ขาด

หมวด 6 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (มาตรา 35 – 39)
29. ให้มี กวฉ. สาขาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่ง ครม. แต่งตั้งตามข้อเสนอของ กขร.
  - กวฉ. คณะหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยบุคคลไม่น้อยกว่า 3 คน (และให้ กขร. แต่งตั้งข้าราชการปฏิบัติหน้าที่เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ)
  - อำนาจหน้าที่ของ กวฉ. แต่ละสาขา วิธีพิจารณาและวินิจฉัย องค์คณะในการพิจารณาและวินิจฉัย ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กขร. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

- กวฉ. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
  1) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15
  2) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน ตามมาตรา 17
  3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามมาตรา 25

- ให้ กขร. ส่งคำอุทธรณ์ให้ กวฉ. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ กขร. ได้รับคำอุทธรณ์

- คำวินิจฉัยของ กวฉ. ให้เป็นที่สุด และในการมีคำวินิจฉัยจะมีข้อสังเกตเสนอต่อ กขร. เพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามที่เห็นสมควรก็ได้

- กวฉ. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง (ถ้ามีเหตุจำเป็น ให้ขยายเวลาได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลและรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน)

หมวด 7 บทกำหนดโทษ (มาตรา 40 – 41)
30. ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กขร. ที่สั่งตามมาตรา 32 (เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ ให้ส่งวัตถุ เอกสาร/พยานหลักฐาน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

31. ผู้ใดฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัด/เงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล (มาตรา 42 – 43)
32. บทบัญญัติมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 มิให้ใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เกิดขึ้น ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ โดยหน่วยงานของรัฐต้องจัดพิมพ์ข้อมูล หรือจัดให้มีข้อมูลไว้ให้ ปชช. เข้าตรวจดูได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กขร. กำหนด

33. ให้ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการ ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.นี้ เว้นแต่ระเบียบที่ ครม. กำหนดตามมาตรา 16 จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542