สรุปคำบรรยายเนติ 1/75 กฎหมายภาษีอากร (ครั้งที่ 3)


สรุปคำบรรยายเนติ 1/75
วิชากฎหมายภาษีอากร (ครั้งที่ 3)
จาก บรรยายเนติบัณฑิตออนไลน์ เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565
บรรยายโดย อ.วิชัย  จิตตาณิชย์
***************************

ครั้งนี้จะมาศึกษาต่อในเรื่อง ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่ 4 ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล คือใคร?
  ประมวลรัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง "ในกรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกินจำนวนตาม (1) ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในกำหนดเวลาและตามแบบเช่นเดียวกับวรรคก่อน การเสียภาษีในกรณีเช่นนี้ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย"
  มาตรา 39 "คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" หมายความว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1022 "อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น"

กรณีนี้เป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นห้างหุ้นส่วนสามัญ จะต้องเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน (ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ก็จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล)

- คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามมาตรา 39 จะต้องร่วมกันทำกิจการใดกิจการหนึ่งหรือหลายกิจการ โดยไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ต้องไม่มีวัตถุประสงค์หากำไรมาแบ่งปันกัน เช่น การกุศล การพัฒนาสังคม หรือการศึกษา เป็นต้น จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ (เพราะห้างหุ้นส่วนสามัญ มีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012)

  คำถาม ก. และ ข. ตกลงลงขันกันคนละ 500,000 บาท ซื้อรถแท็กซี่ 1 คัน นำออกให้เช่า ค่าเช่าที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินของห้างหุ้นส่วนสามัญ ก. และ ข. หรือถือเป็นเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคล ก. และ ข. ?
  คำตอบ ต้องพิจารณาที่วัตถุประสงค์ หากค่าเช่าที่ได้รับตกลงนำไปแบ่งปันกัน ก็เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่หากนำกำไรไปบริจาคการกุศล ก็จะเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าว ก็เพื่อให้ทราบว่า จะต้องนำเงินค่าเช่าดังกล่าวไปยื่นรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในชื่อของใคร ตามมาตรา 56 วรรคสอง

- ปัญหาต่อมา สถานะความเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนี้ ประมวลรัษฏากรบัญญัติไว้เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นหน่วยภาษี แต่สถานะบุคคลที่จะเป็นโจทก์หรือจำเลย ต้องพิจารณาต่อไป

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ถือว่าห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่อาจตกเป็นจำเลย
  คำพิพากษาฎีกาที่ 495/2519 , ที่ 2401/2543 การฟ้องคณะบุคคลเป็นจำเลยนั้น ฟ้องไม่ได้ เพราะคณะบุคคลมิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย

- โดยหลัก หากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จะเป็นโจทก์ฟ้องคดี ต้องให้หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคน ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องคดี , และการจะตกเป็นจำเลย ก็ต้องฟ้องหุ้นส่วนหรือบุคคลเป็นจำเลยร่วมกัน
  อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 3487/2559 การที่หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล เพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (ที่วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษี ได้ประเมินภาษีถูกต้องแล้ว) ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ เพราะโจทก์ต้องร่วมรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050 จึงถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว

- ตามมาตรา 56 วรรคสอง ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เมื่อมีเงินได้พึงประเมินตามเกณฑ์มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) เกิน 60,000 บาท กฎหมายบัญญัติให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการคณะบุคคล มีหน้าที่ยื่นรายการเสียภาษีในชื่อห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้น เสมือนเป็นบุคคลธรรมดา โดยหุ้นส่วนแต่ละคนไม่ต้องไปยื่นภาษีอีก 

- มาตรา 56 วรรคสอง ตอนท้าย บัญญัติไว้ถ้าหากมีภาษีค้างชำระ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีค้างชำระนั้น 
  (ทุกคนต้องร่วมรับผิดต่อกรมสรรพากร , แต่ในระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ความรับผิดแต่ละคนจะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ , ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ ก็จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1044 ความรับผิดแบ่งตามสัดส่วนที่ได้ลงหุ้น)
  คำพิพากษาฎีกาที่ 5133/2533 โจทก์ซื้อขายที่ดินร่วมกัน ส. เข้าลักษณะเป็นการกระทำของคณะบุคคล มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 และมาตรา 77 โจทก์จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินภาษีของคณะบุคคลทั้งหมดเต็มจำนวน มิใช่รับผิดเพียงครึ่งเดียว (มาตรา 77 เป็นกฎหมายขณะนั้น เป็นบทนิยามภาษีการค้า ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว)

  คำถาม หากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลประกอบกิจการแล้วมีกำไร นำกำไรมาแบ่งให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน เงินส่วนแบ่งกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับ จะต้องนำไปเสียภาษีอีกหรือไม่
  คำตอบ ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เมื่อมีเงินได้พึงประเมิน ก็ต้องเสียภาษีตามมาตรา 56 วรรคสอง (ไปชั้นหนึ่งแล้ว) ตามกฎหมายเดิม มาตรา 42 (14) บัญญัติให้ เงินส่วนแบ่งกำไร ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ต่อมาในปี 2557 ได้ยกเลิกกฎหมายแล้ว ดังนั้น เมื่อไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของตนเอง


กรณีที่ 5 วิสาหกิจชุมชน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548
พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนฯ มาตรา 3 บทนิยาม "วิสาหกิจชุมชน" หมายความว่า กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้ และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

- วิสาหกิจชุมชม เป็นกิจการของชุมชน ที่สร้างรายได้และก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน เมื่อมีรายได้จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร , ส่วนจะเสียภาษีประเภทใด ขึ้นอยู่กับรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนนั้น ๆ ดังนี้
  1) วิสาหกิจชุมชนที่ประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล คือ วิสาหกิจที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ห้างหุ้นส่วนจำกัด/บริษัทจำกัด/บริษัทมหาชนจำกัดก็ได้ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
  2) วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษี 3 ข้อ คือ 1. ต้องไปยื่นขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับกรมสรรพากรหรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ภายใน 60 วัน นับแต่มีเงินได้พึงประเมินเกิดขึ้น 2. จัดทำรายงานเงินสดรับจ่ายประจำวัน 3. ยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษี ตามมาตรา 56 วรรคสอง

- อย่างไรก็ตาม มีการส่งเสริม สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง จึงมีการยกเว้นภาษีให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (78) บัญญัติยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งปัจจุบันกฎกระทรวง ฉบับที่ 371 (พ.ศ. 2563) ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีให้ถึง 31 ธันวาคม 2565 
  แต่ถ้าวิสาหกิจชุมชนมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องนำเงินได้ตั้งแต่บาทแรกมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่ได้รับการยกเว้นเลย)

- วิสาหกิจชุมชนที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักค่าลดหย่อนสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท ตามมาตรา 47

  คำถาม เงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากวิสาหกิจชุมชน ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
  คำตอบ เงินส่วนแบ่งกำไร เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษี และไม่ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากมาตรา 42 (14) ถูกยกเลิกไปแล้ว

- วิสาหกิจชุมชม ไม่ว่าจะประกอบกิจการรูปแบบใด (ทั้งนิติบุคคลและไม่ใช่นิติบุคคล) หากมีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ เกิน 1,800,000 บาทต่อปี หรือต่อรอบบัญชี จะต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย , และหากประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ก็จะต้องนำรายรับมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย

จบเรื่อง ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้ง 5 ประเภท

ใครจะต้องเสียภาษีและเสียภาษีให้กับประเทศใด ? เป็นไปตาม หลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้เสียภาษี (Connection หรือ Nexus Rule) มี 3 หลัก คือ
1. หลักสัญชาติ (Nationality Rule) 
  เมื่อบุคคลใดถือสัญชาติของประเทศใด บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้นหรือไม่ และไม่ว่าเงินได้ที่บุคคลนั้นได้รับ จะเกิดจากประเทศนั้นหรือไม่
  หลักนี้มีประเทศที่ใช้ไม่กี่ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และเกาหลีเหนือ (สหรัฐอเมริกาใช้ทั้ง 3 หลัก ประกอบกัน)
2. หลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule) หรือหลักเงินได้ทั่วโลก
  เมื่อบุคคลใดมีถิ่นที่อยู่ในประเทศใด บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศนั้น โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้น จะถือสัญชาติของประเทศนั้นหรือไม่ และไม่คำนึงว่าเงินได้ที่บุคคลนั้นได้รับจะมาจากการทำงานหรือการทำธุรกิจในประเทศนั้นหรือไม่
  ตัวอย่าง อังกฤษ ถ้ามีเงินได้ ไม่ว่าจะนำเข้ามาในประเทศหรือไม่ก็ตาม ก็ตามเสียภาษี ส่วนประเทศไทย บุคคลธรรมดาที่อยู่ในไทย หากมีเงินได้นอกประเทศไทย จะเสียภาษีต่อเมือนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย
3. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) หรือหลักอาณาเขต
  เมื่อบุคคลใดมีเงินได้จากแหล่งในประเทศใด บุคคลนั้นมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่ประเทศนั้น โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติของประเทศนั้นหรือไม่ และไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้นหรือไม่
  ประเทศไทย ใช้หลักที่ 2 และ 3 ประกอบกัน

ครั้งต่อไป จะศึกษารายละเอียดของทั้ง 3 หลักนี้ต่อไป

***จบการบรรยายครั้งที่ 3***
คลิกอ่าน ครั้งที่ 1 , 2 , 3 , 4

ที่มา YouTube บรรยายเนติบัณฑิตออนไลน์ (คลิกลิงก์)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542