สรุปคำบรรยายเนติ 1/75 กฎหมายภาษีอากร (ครั้งที่ 2)


สรุปคำบรรยายเนติ 1/75
วิชากฎหมายภาษีอากร (ครั้งที่ 2)
จาก บรรยายเนติบัณฑิตออนไลน์ เมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565
บรรยายโดย อ.วิชัย จิตตาณิชย์
***************************

อาจารย์อยากให้นักศึกษา ได้ศึกษา ฝึกทำข้อสอบเก่าสัก 20 ปี ตัวบทมาตราไหนออกข้อสอบบ่อย ที่เคยออกสอบก็ต้องท่องให้ได้ ส่วนที่ไม่เคยออก ก็ต้องรู้

วันนี้อาจารย์บรรยายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ได้กำหนดนิยามไว้ 
  "เงินได้พึงประเมิน" หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย
  "ปีภาษี" หมายความว่า ปีประดิทิน
  "ขาย" หมายความรวมถึง ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่แต่ไม่รวมถึง
  (1) ขาย แลกเปลี่ยน ให้ หรือโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาหรือมูลค่าตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
  (2) การโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาทซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์
  "ราคาขาย" หมายความรวมถึง ราคาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดตามมาตรา 49 ทวิ
  "สิทธิครอบครอง" หมายความถึง สิทธิครอบครองในการถือครองอสังหาริมทรัพย์

หลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีอากร
1. หลักความเป็นธรรม (Equity) ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมหรือการหลบเลี่ยงภาษี
  1.1 หลักความสามารถในการชำระภาษี The Ability-to-pay Principle คนที่มีความสามารถในการชำระภาษีที่เท่ากัน ต้องเสียภาษีที่เท่ากัน และควรมีโครงสร้างภาษีแบบก้าวหน้า
  1.2 หลักผลประโยชน์ที่ได้รับ The Benefit Principle ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการบริโภคหรือบริการมากกว่า ต้องเสียภาษีมากกว่า
2. หลักความเป็นกลาง (Neutrality) ต้องไม่ทำให้โครงสร้างการเก็บภาษี กระทบต่อกลไกตลาด เพื่อให้กลไกตลาดสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
3. หลักความแน่นอน (Certainty)
  3.1 ความแน่นอนในด้านภาระภาษี Certainty of Incidence เช่น หากต้องการให้ประชาชนสุขภาพดี ก็เรียกเก็บภาษีสุรา
  3.2 ความแน่นอนของหนี้ภาษี Certainty of Liability มีความแน่นอนในการประเมินภาษี มีความง่าย ไม่ซับซ้อน
4. หลักความประจักษ์แจ้ง (Evidence) ผู้เสียภาษีมีความตระหนักและประจักษ์แจ้งในการเสียภาษี
5. หลักประสิทธิภาพในการบริหาร Administrative Efficiency) ควรเสียต้นทุนในการจัดเก็บภาษีต่ำ จึงจะมีประสิทธิภาพ
6. หลักผลการจำกัดรายจ่ายสุทธิ (Net Expenditure Restraining Effect) เช่น เรียกเก้บจากผู้สูบบุหรี่ ก็จะจำกัดการใช้จ่ายของผู้สูบบุหรี่

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1. บุคคลธรรมดา มาตรา 56
2. ผู้ที่ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง
3. กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง มาตรา 57 ทวิ วรรคสอง
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มาตรา 39
5. วิสาหกิจชุมชน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548

กรณีที่ 1 บุคคลธรรมดา
มาตรา 56 วรรคหนึ่ง "ให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคม ทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งถ้าบุคคลนั้น
  (1) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท
  (2) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 120,000 บาท
  (3) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท หรือ
  (4) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 220,000 บาท"

- โดยหลักทั่วไป บุคคลที่ต้องเสียภาษีมีความหมายกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทารก ผู้เยาว์ คนพิการ หรือจิตฟั่นเฟือน หากมีเงินได้ (ตามเกณฑ์) ก็ต้องเสียภาษี เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษี

- สำหรับผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรืออยู่ต่างประเทศ จะไม่สามารถยื่นภาษีด้วยตนเองได้ กฎหมายก็บัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ ผู้จัดการกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้ มีหน้าที่ยื่นภาษีและเป็นตัวแทนชำระภาษี (มาตรา 57)

- ถ้าบุคคล มีเงินได้ไม่เกินจำนวนตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) - (4) ก็ไม่ต้องยื่นแบบเสียภาษี

- ผู้ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือคนล้มละลาย ก็ต้องเสียภาษี โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำหน้าที่ยื่นแบบและเสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (1)

เกณฑ์เงินได้พึงประเมินที่จะต้องยื่นแบบรายการเสียภาษี (สอดคล้องกับหลักความสามารถ) ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) - (4) (ไม่มีสามีหรือภริยา เรียกง่าย ๆ ว่า โสด)
(1) โสด + เงินได้เกิน 60,000 บาท
(2) โสด + เงินได้ตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 120,000 บาท
(3) ไม่โสด + เงินได้เกิน 120,000 บาท
(4) ไม่โสด + เงินได้ตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเกิน 220,000 บาท

- มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (3) (4) ต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น (หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะเข้า มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) (2)

- มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) (4) ต้องมีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเท่านั้น แต่มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) (3) อาจมีเงินได้หลายประเภทตามมาตรา 40 (1) (2)...

  คำถาม ผู้มีเงินได้เป็นโสด มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) จำนวน 50,000 บาท และมีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) จำนวน 40,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการหรือไม่ ?
  คำตอบ กรณีนี้เป็นโสด ต้องพิจารณามาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) เมื่อไม่ได้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียว จึงไม่ใช่กรณีมาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) แต่เป็นมาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1)

กรณีที่ 2 ผู้ที่ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี 
มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง "ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง หรือก่อนที่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 57 ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี ปฏิบัติแทน และโดยเฉพาะในการยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของผู้ตายนั้น ให้รวมเงินได้พึงประเมินของผู้ตายและของกองมรดกที่ได้รับตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย เป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่จะต้องยื่นทั้งสิ้น"

- เป็นการตายก่อนยื่นแบบภาษี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก มีหน้าที่ยื่นแบบภาษีในชื่อของผู้ตาย*** (ปีแรกที่ตาย ก็ยื่นแบบใบชื่อผู้ตาย)

  คำถาม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2564 นาย เอ ทำงานได้เงินเดือน ๆ ละ 100,000 บาท รวม 8 เดือน ได้ค่าจ้าง 800,000 บาท นาย เอ มีตึกแถวให้เช่า 2 คูหา เก็บค่าเช่าคูหาละ 10,000 บาท/เดือน สัญญาเช่า 3 ปี นับแต่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2566
  ต่อมา 1 กันยายน 2564 นาย เอ ถึงแก่ความตาย มีทายาท 2 คน คือ บี และ ซี ได้รับมรดก 2 คูหา แต่ยังไม่ได้แบ่งกัน และยังคงให้เช่าต่อไป อีก 4 เดือนต่อมาได้ค่าเช่ารวม 80,000 บาท ผู้จัดการมรดกได้แบ่งค่าเช่าให้ บี และ ซี คนละ 40,000 บาท เช่นนี้ เงินได้จากเงินเดือน 800,000 บาท และค่าเช่า 160,000 บาท (ค่าเช่าขณะนาย เอ มีชีวิตอยู่) รวม 960,000 บาท ที่ได้รับก่อนตาย และค่าเช่า 80,000 บาท ที่กองมรดกของนาย เอ ได้รับหลังจากนาย เอ ตายแล้ว จะต้องเสียภาษีอย่างไร ?
  คำตอบ มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง ให้รวมเงินได้ของนายเอ และของกองมรดกที่ได้รับตลอดปีภาษีที่นาย เอ ตาย เป็นยอดเงินได้พึงประเมิน ดังนั้น ค่าจ้าง 800,000 บาท และค่าเช่าตึก 2 คูหา จำนวน 12 เดือน เป็นเงิน 240,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในปีภาษี 2564 ที่นาย เอ ตาย ผู้จัดการมรดกของนาย เอ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ในชื่อของนาย เอ ผู้ตาย
  กรณีการเสียภาษี กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก มาใช้กับเรื่องภาษี บี กับ ซี แม้จะได้รับเงินคนละ 40,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเป็นการส่วนตัว (เพราะกฎหมายบัญญัติให้เสียภาษีในชื่อผู้ตาย)

กรณีที่ 3 กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง 
มาตรา 57 ทวิ วรรคสอง "สำหรับในปีต่อไป ถ้ากองมรดกของผู้ตายยังมิได้แบ่งและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกินจำนวนตามมาตรา 56 (1) ให้ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในส่วนนี้ในชื่อกองมรดกของผู้ตาย"

  คำถาม จากตัวอย่างเดิม ในปีต่อมา 2565 กองมรดกยังไม่ได้แบ่ง และยังคงให้เช่าตึกแถวต่อไป กองมรดกได้รับค่าเช่าตลอดปี 240,000 บาท แบ่งให้ บี และ ซี คนละ 120,000 บาท ดังนี้
  1. ค่าเช่าทั้งหมด 240,000 บาท จะเสียภาษีในชื่อใคร ?
  2. เงินส่วนแบ่งค่าเช่าที่ทายาทได้รับคนละ 120,000 บาท ต้องนำไปเสียภาษีอีกหรือไม่ ?
  คำตอบ 
  1. มาตรา 57 ทวิ วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อปีต่อไป (ถัดจากปีที่ตาย) กองมรดกยังไม่ได้แบ่งและมีเงินได้ จึงต้องเสียภาษีในชื่อกองมรดกของนาย เอ

คำพิพากษาฎีกาที่ 171/2521 เมื่อกองมรดกโจทก์ยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เงินค่าเช่าที่ได้ับจากผู้เช่าทรัพย์สินของกองมรดก ย่อมเป็นของกองมรดก เพราะเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111 ซึ่งจะต้องนำไปแบ่งปันกันระหว่างทายาทต่อมาภายหลัง แม้ตามพินัยกรรมจะระบุให้แบ่งเงินค่าเช่าแก่ทายาท 3 คน และผู้จัดเก็บผลประโยชน์ของกองมรดกได้แบ่งค่าเช่าที่เก็บมาได้ให้แก่ทายาทไปตามพินัยกรรมแล้ว ก็หาใช่ว่าเงินนั้นตกแก่ทายาท 3 คนนั้นทันทีไม่ กรณีเข้ามาตรา 57 ทวิ วรรคสอง ซึ่งผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้ในชื่อกองมรดกของผู้ตาย

  2. ทายาทไม่ต้องนำค่าเช่าที่ได้รับ ไปเสียภาษีอีก ไม่ต้องเสียซ้ำซ้อน เนื่องจากมาตรา 42 (16) บัญญัติให้ได้รับการยกเว้น
มาตรา 42 "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ... (16) เงินได้ที่ได้รับจากกองมรดกซึ่งต้องเสียภาษีตามความในมาตรา 57 ทวิ"

  คำถาม จากคำถามเดิม ถ้าต่อมาในปี 2566 มีการแบ่งมรดก โดยแบ่งตึกให้ บี และ ซี คนละคูหา เงินค่าเช่าที่เกิดขึ้นในปี 2566 รวม 240,000 บาท จะต้องเสียภาษีในชื่อของใคร ?
  คำตอบ เมื่อมีการแบ่งมรดกแล้ว จะไม่มีการเสียภาษีในชื่อกองมรดกอีกแล้ว และไม่ว่าจะแบ่งมรดกเมื่อใดในปี 2566 (จะต้นปี หรือปลายปี) ก็ตาม ถือว่าปีนั้นไม่มีกองมรดกแล้ว ซึ่ง บี และ ซี จะต้องเสียภาษีในชื่อของตนเอง
 
  คำถาม สำหรับตึกที่ บี และ ซี ได้รับ มีราคาคูหาละ 1 ล้านบาท จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินของ บี และ ซี หรือไม่ และต้องเสียภาษีหรือไม่
  คำตอบ ตึกที่ได้รับ คือทรัพย์สิน และเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้หรือไม่ ซึ่งมาตรา 42 (10) ได้บัญญัติยกเว้นไว้ จึงไม่ต้องเสียภาษี
มาตรา 42 "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ... (10) เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก"

- พ.ร.บ.ภาษีอากรรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 12 หากทรัพย์มรดกเกิน 100 ล้านบาท ให้เสียภาษีในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

***จบการบรรยายครั้งที่ 2***
คลิกอ่าน ครั้งที่ 1 , 2 , 3 , 4

ที่มา YouTube บรรยายเนติบัณฑิตออนไลน์ (คลิกลิงก์)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542