พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 (มาตรา 73 วรรคหนึ่ง , มาตรา 74)


พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ได้บัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 73 วรรคหนึ่ง และมาตรา 74 ดังนี้

  มาตรา 73 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เด็กอายุไม่เกินสิบสองปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ" 
  (มาตรา 73 วรรคหนึ่ง ใหม่ เป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุเด็ก จากเดิมบัญญัติให้เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เป็นอายุไม่เกิน 12 ปี)

มาตรา 74 บัญญัติว่า "เด็กอายุกว่าสิบสองปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
  (1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
  (2) ถ้าศาลเห็นว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้น ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น แต่ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่าจะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
  (3) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
  ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
  ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้น ให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควรหรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้
  คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) วรรคสอง และวรรคสามนั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้"
  (มาตรา 74 ใหม่ หลักการคงเดิม โดยวรรคหนึ่งเป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุให้สอดคล้องกับมาตรา 73 ส่วน (3) ปรับถ้อยคำจาก ส่งเด็กไปยังโรงเรียน... เป็นส่งเด็กไปยังสถานศึกษา) 

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่อายุยังไม่เกินสิบปี แต่จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าเด็กอายุสิบสองปีกับเด็กอายุสิบปีไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ อีกทั้งเด็กอายุไม่เกินสิบสองปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก กรณีจึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุสิบปีแต่ไม่เกินสิบสองปีได้รับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป ประกอบกับการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดจากอายุยังไม่เกินสิบปี เป็นอายุยังไม่เกินสิบสองปี เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 10 (ค.ศ. 2007) (General Comment No. 10 (2007) Children's rights in juvenile justice) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563) อีกด้วย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542