ฟ้องเพิกถอนการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564)


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 

เมื่อข้อบังคับจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ ส่วนข้อ 3 ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นนั้น ผู้จะโอนจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหลังจากนั้นแล้ว 30 วัน หากไม่มีผู้ใดประสงค์จะรับโอน จึงจะโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการด้วย 

แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ด้วย และแม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการ แต่เมื่อข้อบังคับบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้และผูกพันเป็นสัญญาในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทกำหนดให้การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ย่อมเป็นหน้าที่ของบริษัทต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริษัทเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ 

การไม่มีคณะกรรมการบริษัท มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งข้อบังคับจำเลยที่ 1 มิได้มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายในครอบครัวหรือการโอนหุ้นให้แก่บุตรแล้วมิต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 

ดังนั้น การที่ จ. โอนหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 บุตรของ จ. ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่เป็นบุคคลภายนอก โดยมิได้บอกกล่าวให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น ๆ ทราบ เพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมมีโอกาสรับโอนหุ้นจาก จ. ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อน จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
   มาตรา 1129
บัญญัติว่า "อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
   การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
   การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542