จำเลยไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2564)


คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , มาตรา 157 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง และกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 มาตรา 30

ต่อมาจำเลยไม่ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปตามจำนวนและระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลง ผู้เสียหายจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการลงโทษจำเลย

ศาลชั้นต้นนัดสอบถาม ผู้เสียหายให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย โดยนัดพร้อมตามระยะเวลาที่ตกลงกัน แต่จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายบางส่วนแล้ว ไม่ชำระอีก

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขบันทึกข้อตกลง อันเป็นเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลย จึงให้เพิกถอนการคุมความประพฤติของจำเลยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่จำเลยไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการคุมความประพฤติ และให้ลงโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้แก่จำเลย ดังนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลย

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 6, หน้า 1600 - 1602


- พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559
  มาตรา 34 บัญญัติว่า 
  "ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ถูกคุมความประพฤติไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติตามที่ศาลกำหนด หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับการคุมความประพฤติของผู้ถูกคุมความประพฤติเปลี่ยนแปลงไป และศาลได้มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษ ให้ศาลแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบ หากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติมากขึ้น ผู้ถูกคุมความประพฤติมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นได้
  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542