ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องในคดีอาญา เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2564)
จำเลยฎีกาว่า จ่าสิบเอก ก. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากกองทัพบก ผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย
แม้จ่าสิบเอก ก. ร้องทุกข์โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดดังกล่าวได้โดยชอบ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มาตรา 120 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"
ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 3, หน้า 564 - 570
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 195 วรรคสอง บัญญัติว่า "ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม"
มาตรา 225 บัญญัติว่า "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง"
มาตรา 225 บัญญัติว่า "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น