การปลดหนี้


การปลดหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ ว่าจะสละสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นการทำให้เปล่าไม่คิดค่าตอบแทน มีผลทำให้หนี้นั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป" และการปลดหนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ เพียงแค่ลูกหนี้ได้รับการแสดงเจตนาจากเจ้าหนี้ที่จะปลดหนี้ให้ก็พอแล้ว 

อย่างไรก็ตาม หากหนี้นั้น เป็นหนี้ที่มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ หรือเวนคืนเอกสารหลักฐานแห่งหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสาร ตามมาตรา 340 วรรคสอง "
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย" หากปลดหนี้โดยไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด ย่อมตกเป็นโมฆะ

ตัวอย่าง หนี้ที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ การจะปลดหนี้ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 340 วรรคสอง ด้วย เช่น กู้ยืมเงินไม่เกิน 1,000 บาท แต่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ การปลดหนี้ก็ต้องทำตามมาตรา 340 วรรคสอง จะแสดงเจตนาปลดหนี้ด้วยปากเปล่าไม่ได้

ตัวอย่าง การกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ ถือว่าไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าหนี้จึงไม่อาจฟ้องลูกหนี้ได้ 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" แต่ในเรื่องการปลดหนี้ เจ้าหนี้ก็ทำได้โดยแสดงเจตนาปลดหนี้ด้วยปากเปล่าก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องทำตามมาตรา 340 วรรคสอง

แต่สำหรับ การปลดหนี้จำนอง กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ตามมาตรา 746 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือ และไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย จึงจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ (แต่สำหรับเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เมื่อปลดหนี้โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้จดทะเบียน ก็สามารถใช้ยันกันเองได้)

ผลของการปลดหนี้ หากเป็นการปลดหนี้ให้ทั้งหมด หนี้นั้นย่อมระงับสิ้นไป รวมทั้งหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ระงับไปด้วย เช่น การปลดหนี้เงินกู้ การจำนอง จำนำประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ย่อมระงับไปด้วย หรือการปลดหนี้ให้ลูกหนี้ ก็มีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย แต่หากเป็นการปลดหนี้เพียงบางส่วน เฉพาะหนี้ส่วนที่ปลดให้เท่านั้นที่ระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2504 การยกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และคืนเงินมัดจำ ไม่ใช่การปลดหนี้ ตามมาตรา 340 และไม่มีกฎหมายบญญัติให้ทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น เพียงแต่มีการแสดงเจตนาต่อกันก็สมบูรณ์แล้ว (มาตรา 386)

คำพิพากษาฎีกาที่ 635/2522 การประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย ไม่ใช่ปลดหนี้ มีผลเฉพาะเจ้าหนี้และลูกหนี้ในคดีนั้นเท่านั้น ไม่มีผลไปถึงลูกหนี้คนอื่นในคดีอื่นที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ที่มา
- อาจารย์ประโมทย์ จารุนิล. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2562 (หน้า 242 - 245)

- ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

   มาตรา 340 "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
   ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"

   มาตรา 653 วรรคแรก "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"

   มาตรา 746 "การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใด ๆ สิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้อย่างใด ๆ ก็ดี การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำขอร้องของผู้มีส่วนได้เสีย มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542