5 ลักษณะพิเศษของสัญญาประกันภัย
สัญญาประกันภัยทุกประเภท นอกจากจะเป็นเอกเทศสัญญา ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังมีลักษณะพิเศษอีก 5 ประการ คือ
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
โดยผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัย มีสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน คือ ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยเป็นค่าตอบแทนที่ผู้รับประกันภัยยอมตนเข้ารับเสี่ยงภัยแทน และผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเบี้ยดังกล่าว และหากเกิดภัยขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชำระค่าสินไหมทดแทนหรือเงินตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ได้ และผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ดังกล่าว
2. เป็นสัญญาที่มีผลบังคับไม่แน่นอน
หากไม่มีวินาศภัยตามที่ตกลงกันไว้ ผู้เอาประกันก็ย่อมไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน ผลของสัญญาจึงไม่แน่นอน (ส่วนสัญญาประกันชีวิตมีผลบังคับแน่นอน แต่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไร)
3. เป็นสัญญาที่ต้องการความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง
คู่สัญญาต้องซื้อสัตย์สุจริตต่อกัน การนิ่งไม่เปิดเผยความจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้รับประกันภัยเรียกเก็บเบี้ยประกันสูงขึ้น หรือไม่ยอมทำสัญญา หรือการแถลงเท็จ ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 865 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
4. เป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
เป็นไปตามมาตรา 867 วรรคแรก บัญญัติว่า "อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อของตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" คือ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ อาจเป็นเอกสารใด ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นรูปแบบสัญญา จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ เช่น ใบเสร็จรับเงินที่แสดงว่าเป็นการรับเบี้ยประกันและมีลายมือชื่อผู้รับประกันภัยหรือตัวแทนของผู้รับประกันภัย
5. เป็นสัญญากรมธรรม์ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ
กฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย และกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ ให้ความเห็นชอบอัตราเบี้ยประกัน อนุมัติและปรับปรุงอัตราเบี้ยประกัน รวมถึงเอกสารประกอบกรมธรรม์ด้วย และนายทะเบียนจะสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม หรือยกเลิกแบบหรือข้อความบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
ที่มา อาจารย์กนกวรรณ ผลศรัทธา, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2564)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น