สรุปคำบรรยาย กฎหมายอาญา 3 (ครั้งที่ 2)
สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายอาญา 3 LAW3101 (LAW3001 เดิม)
ภาคเรียน 2/2563
ครั้งที่ 2 : วันที่ 22 ธันวาคม 2563
บรรยายโดยท่านอาจารย์ มาโนช สุขสังข์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
*****************
ป.อาญา มาตรา 334 บัญญัติว่า "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์..." มาตรา 334 ต้องเป็นการกระทำต่อทรัพย์ (วัตถุมีรูปร่าง และเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งจะถูกลักให้เคลื่อนที่ไปได้) โดยการแย่งไปทั้งกรรมสิทธิ์และการครอบครอง (ทั้ง 2 อย่าง)
ตัวอย่าง เอ เช่าที่ดินจาก บี ต่อมาเอ ให้รถตักขุดเอาดินไป ดินที่ขุดขึ้นมาย่อมเป็นสังหาริมทรัพย์ เมื่อเอาดินไป จึงผิดลักทรัพย์
ตัวอย่าง บี มีที่ดินโดยปลูกต้นยางพารา ต้นยางที่ปลูกจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต่อมา เอ แอบไปกรีดน้ำยาง ทำให้น้ำยางไหลลงมาที่ถ้วยรอง แต่ยังไม่ได้เอาไป กรณีนี้ถือว่า น้ำยางเป็นสังหาริมทรัพย์ แยกออกต่างหากจากต้นยางพารา แต่เมื่อยังไม่ได้เอาน้ำยางให้เคลื่อนที่ไป จึงผิดเพียงพยายามลักทรัพย์
ถ้าไม่ใช่วัตถุมีรูปร่างเลย ก็ไม่อาจถูกลักทรัพย์ได้ เช่น สิทธิเรียกร้อง
ตัวอย่าง ดาวน์โหลดเอาข้อมูลของผู้อื่นที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ไป ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ จึงไม่ผิดฐานลักทรัพย์ (แต่ถ้ายกเอาเครื่องคอมฯ ไป ก็ผิดลักทรัพย์ คือตัวคอมฯ)
แต่มีทรัพย์ประเภทหนึ่ง ที่ศาลฎีกาถือว่าเป็นทรัพย์
ตัวอย่าง กระแสไฟฟ้า (โดยหลัก กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงาน ไม่ใช่ตัวทรัพย์) การต่อพ่วงสายไฟ แล้วลักเอากระแสไฟไป มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้
จากตัวอย่างนี้ มีผลทำให้ โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์สาธารณะ หากมีการต่อพ่วงใช้โทรศัพท์ก็ผิดลักทรัพย์ได้เช่นกัน
ส่วนโทรศัพท์มือถือ การแอบจูนคลื่นสัญญาโทรศัพท์ ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่ในอากาศ ไม่ใช่วัตถุมีรูปร่าง จึงไม่ผิดลักทรัพย์
ข้อสอบเก่า เอ เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้าน บีซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ได้เข้าไปในบ้านเอ แล้วเปิดแอร์ พัดลม ทีวี ทำให้เอ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น เอจะฟ้องบีว่าลักทรัพย์ได้หรือไม่ จะเห็นได้ว่า บี ไม่ได้แย่งการครอบครองและไม่ได้พาทรัพย์เคลื่อนที่ ค่าไฟที่แพงเกิดจากการใช้พลังงานตามปกติ (ไม่มีการต่อพ่วงเอาไปใช้) จึงไม่ผิดลักทรัพย์ ดังนั้น หากเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า บีต่อพ่วงสายไฟ และเอาไปใช้ บีก็จะผิดลักทรัพย์
ตัวอย่าง น้ำประปา ก็เป็นวัตถุมีรูปร่างที่อาจลักทรัพย์ได้ ถ้ามีการต่อท่อน้ำแล้วเอาน้ำไป ก็ผิดลักทรัพย์ แต่ถ้าเข้าไปบ้านคนอื่น แล้วเปิดน้ำอาบ กรณีนี้ไม่มีการแย่งการครอบครองและเอาไป แต่เป็นการใช้น้ำตามปกติ จึงไม่ผิดลักทรัพย์
ตัวอย่าง ทรัพย์ที่โอนไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ปืนเถื่อน ยาบ้า ยาเสพติด เหล่านี้เป็นวัตถุมีรูปร่าง เมื่อมีเจ้าของ การแย่งเอาไป ก็ผิดลักทรัพย์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 197/2490 เจ้าหน้าที่ยึดสุราเถื่อนแล้วเอาไปเสียเอง เจ้าของสุราเถื่อนฟ้องว่ายักยอกทรัพย์ ศาลตัดสินว่า เจ้าหน้าที่ผิดยักยอก และเจ้าของสุราเถื่อนเป็นผู้เสียหาย
กรณีทรัพย์ของผู้อื่น เรื่องนี้จะต้องพิจารณาหลักกรรมสิทธิ์ในทางแพ่งประกอบด้วย
ถ้าเป็นของผู้กระทำเอง ก็ไม่ผิดลักทรัพย์ เช่น ผู้จำนำ เอาทรัพย์ที่จำนำไป ไม่ผิดลักทรัพย์ (แต่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้)
ตัวอย่าง ส่วนควบ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของส่วนควบ
เอ ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ เอจึงทำสัมปทานและปลูกยางพาราด้วย ต่อมา บี แอบมาตัด/กรีดน้ำยางพาราไป กรณีนี้ ที่ดินเป็นของรัฐ รัฐอนุญาตให้เอ ทำประโยชน์ในที่ดิน เอเอาต้นยางมาปลูกโดยได้รับอนุญาต ต้นยางจึงไม่เป็นส่วนควบ ตามมาตรา 144 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้นยางพาราจึงเป็นของเอ เมื่อบีแอบตัด/กรีดน้ำยาง จึงผิดลักทรัพย์ต่อเอ
ตัวอย่าง มาตรา 1316 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าของทรัพย์ประธานถือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว
เอ เช่าซื้อเครื่องรถยนต์จากบี เอามาต่อตัวถังเพิ่ม หากเอ ไม่ชำระค่าเช่าซื้อเครื่องรถยนต์ บีมาเอารถยนต์ทั้งคันไป เช่นนี้ถือว่า การรวมเครื่องยนต์และตัวถังรถยนต์ ถือได้ว่าเครื่องยนต์เป็นทรัพย์ประธาน เจ้าของเครื่องยนต์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ บีจึงเป็นเจ้าของรถยนต์ทั้งคัน เมื่อบีเอารถยนต์ไป จึงไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะเอาทรัพย์ของตนเองไป
ตัวอย่าง เอซื้อรถมาจากบี บีส่งมอบรถยนต์แล้ว แต่เอยังไม่ชำระเงิน บีจึงเอารถไป กรณีนี้ต้องดูการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ กรรมสิทธิ์โอนทันทีเมื่อคำเสนอคำสนองตรงกัน ดังนั้น เอจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวแล้ว เมื่อบีเอารถไป จึงผิดลักทรัพย์
จากตัวอย่างนี้ หากมีข้อสัญญาว่า การส่งมอบรถยนต์กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะชำระเงินครบถ้วน ถือว่า การซื้อขายมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 459 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่โอนเป็นของเอ ยังคงเป็นของบีอยู่ เมื่อบีเอารถไป บีจึงไม่ผิดลักทรัพย์
ตัวอย่าง เงินฝากธนาคาร หากฝากเงินไว้กับธนาคารแล้ว ต่อมาเงินหายไปเนื่องจากธนาคารโอนเงินไปยังบุคคลอื่นโดยพลการ กรณีนี้แม้เงินเป็นทรัพย์ที่ลักได้ แต่ธนาคารเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่ฝาก ธนาคารไม่ผิดลักทรัพย์ (มาตรา 672 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฝากเงินได้โอนกรรมสิทธิ์ในเงินไปยังธนาคารแล้ว เพียงแต่มีสิทธิได้เงินคืนตามจำนวน)
ตัวอย่าง สั่งข้าว 50 บาท ให้เงิน 500 บาท แม่ค้าทอนเงินให้ 50 บาท อ้างว่าได้รับเงินเพียง 100 บาท กรณีนี้ เป็นเรื่องการชำระหนี้ เมื่อยื่นเงินชำระหนี้ ถือว่าโอนกรรมสิทธิ์ในธนบัตรทั้งฉบับไปให้เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จึงเป็นเจ้าของธนบัตร ดังนั้น แม่ค้าจึงเป็นเจ้าของธนบัตรใบละ 500 บาท ดังกล่าว จึงไม่ผิดลักทรัพย์
จากตัวอย่างนี้ ถามว่าแม่ค้าจะผิดยักยอกเงิน 450 บาท หรือไม่ กรณีนี้เงิน 450 บาท ยังเป็นของแม่ค้า ยังไม่ใช่ทรัพย์ของลูกค้า ดังนั้น แม่ค้าก็ไม่ผิดฐานยักยอก (ลูกค้ามีสิทธิทางแพ่ง เรียกให้ชำระเงินทอนเท่านั้น)
(ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2538 คนเก็บตั๋วโดยสาร ไม่ทอนเงิน)
กรณีทรัพย์ไม่มีเจ้าของ คนเอาทรัพย์ไป ก็ไม่ผิดฐานลักทรัพย์ เช่น สัตว์ป่า ปลาที่อยู่ในน้ำ (แต่ผิดกฎหมายอื่น)
ตัวอย่าง รังนกที่อยู่บนเกาะ รัฐเปิดให้สัมปทานแก่เอกชน ถ้า เอ ได้รับสัมปทานรังนก ต่อมาเมื่อเดินทางไปที่เกาะเพื่อจะเข้าเก็บรังนก พบเห็นบี กำลังเก็บรังนกอยู่ บีผิดลักทรัพย์หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2541 วินิจฉัยว่า รังนกเป็นทรัพย์ตามธรรมชาติ ไม่มีเจ้าของ การได้รับสัมปทานให้เก็บรังนกได้โดยไม่ถูกหวงห้ามจากรัฐเท่านั้น เมื่อยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรังนก บีจึงไม่ผิดลักทรัพย์ (จะมีกรรมสิทธิ์เมื่อเข้าครอบครองแล้วเท่าน้น)
จากตัวอย่างดังกล่าว ถ้าเอ พาคนงานเข้าไปเก็บรังนกแล้ว ระหว่างที่กำลังเก็บอยู่ บีแอบมาเก็บด้วย ถือว่ารังนกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอ เพราะเอได้เข้าครอบครองตัวทรัพย์แล้ว บีจึงผิดลักทรัพย์
หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า เอเอาคนงานมาเก็บรังนก แล้วพาคนงานกลับ แต่บนเกาะยังเหลือรังนกที่ยังไม่ได้เก็บเอาไป บีแอบมาเก็บรังนกที่เหลือไป กรณีนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6736/2541 ถือว่า เอได้เลิกครอบครองตัวทรัพย์แล้ว รังนกจึงกลับเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของอีกครั้ง บีจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
กรณีเจ้าของสละกรรมสิทธิ์ ไม่ยึดถือเป็นเจ้าของอีกต่อไป ต้องเป็นการสละกรรมสิทธิ์โดยสมัครใจ ไม่ถูกขัดขวางในการจะได้คืน
ตัวอย่าง เอารองเท้าไปทิ้งถังขยะ คนเก็บของเก่าเอารองเท้าไป โดยวางไว้ที่รถซาเล้ง ไม่ผิดลักทรัพย์ และคนเก็บของเก่านี้ก็เป็นเจ้าของรองเท้านี้ ต่อมามีคนหยิบรองเท้าที่รถซาเล้งไป ก็ผิดลักทรัพย์ของคนเก็บของเก่า
ตัวอย่าง ใช้โทรศัพท์สาธารณะ หยอดเหรียญ 10 บาท ใช้ไป 5 บาท แต่เหรียญไม่คืน เนื่องจาก เอ ได้เอากระดาษไปอุดไว้ ทำให้เหรียญค้า ไม่ตกลงมา กรณีนี้เจ้าของเหรียญไม่ได้สละทรัพย์โดยแท้จริง ไม่ได้มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ จึงถือว่าเป็นทรัพย์มีเจ้าของ เอเอาไปจึงผิดลักทรัพย์
กรณีทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ลักทรัพย์จะต้องแย่งทั้งกรรมสิทธิ์และการครอบครอง
โดยทั่วไปแล้ว กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก กล่าวคือ เมื่อทรัพย์อยู่กับเจ้าของรวมคนใด เท่ากับมีการครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2528 เอ และ บี ร่วมกันซื้อที่ดินและไม้ที่ปลูก ไม้เป็นของทั้งคู่ เมื่อเอแอบตัดไป ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง เพราะเอ ยังครอบครองแทนบีอยู่ด้วย เอไม่ผิดลักทรัพย์
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1891-92/2536 ร่วมลงทุนเลี้ยงหอยแครง โจทก์เลี้ยงคนเดียว จำเลยไม่ได้เลี้ยง ต่อมาจำเลยให้คนมาตักหอยไป ถือว่า โจทก์ครอบครองแทนจำเลยด้วย จำเลยเอาหอยไป เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์รวมไป แต่ไม่ได้แย่งการครอบครอง
ความผิดฐานลักทรัพย์ต้องแย่งทั้งกรรมสิทธิ์และการครอบครอง
ตัวอย่าง เอ เช่าที่ดินจาก บี แล้วขุดเอาดินไปขาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2527 ถือว่า เอครอบครองที่ดินทั้งแปลง (ที่ดินอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า) ดินที่ขุดขึ้นมาจึงเป็นสังหาริมทรัพย์ และไม่ได้อยู่ในความครอบครองของเอ ยังคงอยู่ในความครอบครองของบี เอจึงผิดลักทรัพย์
ตัวอย่าง เอ เช่าบ้าน บี พร้อมเฟอร์นิเจอร์ครบ เอเอาเฟอร์นิเจอร์ไปขาย ถือว่าแย่งกรรมสิทธิ์แล้ว แต่เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์อยู่ในความครอบครองของเอ เอจึงไม่ได้แย่งการครอบครอง จึงไม่ผิดลักทรัพย์ (ผิดยักยอก)
ตัวอย่าง ผู้ยืม เอาทรัพย์ที่ีครอบครองไป ก็เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ แต่ไม่ได้แย่งการครอบครอง ไม่ผิดลักทรัพย์ (ผิดยักยอก)
คราวหน้า จะมาดูว่า การครอบครองอยู่กับใครกรณีที่ยึดถือทรัพย์ไว้แทนผู้อื่น
*****จบคำบรรยาย ครั้งที่ 2*****
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น