แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)


ข้อ 1 การยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องออกเป็นกฎหมายใด
ก. พระราชบัญญัติ
ข. พระราชกำหนด
ค. พระราชกฤษฎีกา
ง. กฎกระทรวง

ข้อ 2 กฎหมายตามข้อ 1 กำหนดหน่วยงานและกิจการใดที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 
ก. หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง
ข. กิจการด้านการศึกษา
ค. กิจการด้านความบันเทิงและนันทนาการ
ง. ถูกทุกข้อ

ข้อ 3 โดยหลักทั่วไป พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ใช้บังคับตั้งแต่วันใด
ก. 26 พฤษภาคม 2562
ข. 27 พฤษภาคม 2562
ค. 28 พฤษภาคม 2562
ง. 29 พฤษภาคม 2562

ข้อ 4 "บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล" คือความหมายตามข้อใด
ก. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
ข. ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
ค. พนักงานเจ้าหน้าที่
ง. ไม่มีข้อใดถูกต้อง

ข้อ 5 ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ก. นายกรัฐมนตรี
ข. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ค. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ง. เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อ 6 ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ก. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
ข. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ค. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
ง. คณะกรรมการร่วมสี่ฝ่าย

ข้อ 7 ข้อใดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ก. คณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวน 8 คน
ข. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ได้รับคัดเลือกเป็นประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ค. ประธานกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ง. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งบกพร่องต่อหน้าที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ออก

ข้อ 8 การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ ต้องขอความยินยอมจากผู้ใด
ก. ผู้ปกครอง
ข. ผู้อนุบาล
ค. ผู้พิทักษ์
ง. พนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อ 9 ข้อใดไม่ถูกต้อง
ก. โดยหลักทั่วไปผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อนหรือขณะนั้น
ข. การขอความยินยอมต้องทำโดยชัดแจ้งเป็นหนังสือเท่านั้น
ค. การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวมรวม ใช้ หรือเผยแพร่ด้วย
ง. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีอิสระในการให้ความยินยอม

ข้อ 10 ข้อใดมิใช่ข้อยกเว้น ในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
ก. เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของบุคคล
ข. เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
ค. การจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ง. ไม่มีข้อใดถูกต้อง

เฉลย
ข้อ 1 ตอบ ค. มาตรา 4 วรรคสอง ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ข้อ 2 ตอบ ง. พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 (คลิกดาวน์โหลด) และฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2564) (คลิกดาวน์โหลด) กำหนดหน่วยงานและกิจการตามข้อ ก , ข , และ ค ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายดังกล่าว จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565*** 
ข้อ 3 ตอบ ค. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 69 ก วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป  
หมายเหตุ คำถามข้อ 1 - ข้อ 3 มีความเกี่ยวเนื่องกัน และทำให้หลายคนเกิดความสับสน เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ยกเว้นบทบัญญัติในหมวด 2 หมวด 3 หมวด 5 หมวด 6 หมวด 7 มาตรา 95 และมาตรา 96 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต่อมาได้ถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ดังนั้นวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถือว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยสมบูรณ์ทั้งฉบับ แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เพราะบทบัญญัติที่ไม่ถูกยกเว้น บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 แล้ว
ข้อ 4 ตอบ ก. มาตรา 6 "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อ 5 ตอบ ข. มาตรา 7 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อ 6 ตอบ ข. มาตรา 16 (3) เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อ 7 ตอบ ข. มาตรา 10 วรรคสาม นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ประกาศรายชื่อประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี
ข้อ 8 ตอบ ข. มาตรา 20 วรรคสอง ต้องขอความยินยอมจากผู้อนุบาลที่มีอำนาจกระทำการแทนคนไร้ความสามารถ 
***มาตรา 20 
ผู้เยาว์ = ผู้ใช้อำนาจปกครอง 
คนไร้ความสามารถ = ผู้อนุบาล
คนเสมือนไร้ความสามารถ = ผู้พิทักษ์
ข้อ 9 ตอบ ข. มาตรา 19 วรรคสอง การขอความยินยอมต้องทำโดยชัดแจ้ง เป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 
ข้อ 10 ตอบ ง. ตัวเลือกตามข้อ ก , ข และ ค เป็นข้อยกเว้น ซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 24 

***ลิ้งก์แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562***
***อ่านเพิ่มเติม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (คลิกลิงก์)*** 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542