"การมอบหมาย" ให้เป็น "นายทะเบียน" ตามกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
กรณีที่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นนายทะเบียนกลาง และกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 หากผู้ซึ่งได้รับมอบหมายดังกล่าว ออกคำสั่งไม่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 บัญญัตินิยามคำว่า "นายทะเบียนกลาง" หมายความว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และคำว่า "นายทะเบียนประจำจังหวัด" หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย
คำว่ามอบหมายในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นการมอบอำนาจ ตามความหมายของกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบบริหารราชการ แต่หมายถึง การมอบหมายให้เป็น "นายทะเบียนกลาง" หรือ "นายทะเบียนประจำจังหวัด" เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจึงมีฐานะเป็น "นายทะเบียนกลาง" หรือ "นายทะเบียนประจำจังหวัด" ด้วยตัวเอง มิได้เป็นการทำแทนผู้ที่มอบหมาย
ดังนั้น เมื่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการให้มีการอุทธรณ์ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแล้ว หากนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัดออกคำสั่งไม่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค
การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ต้องพิจารณาจากตำแหน่งของผู้เป็นนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นสำคัญ และผู้มีอำนาจในการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ที่มา ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 753/2563, รวมความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับย่อที่น่าสนใจ เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกันยายน 2563
#นักเรียนกฎหมาย
13 เมษายน 2564
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น