กระทรวงการคลังพิจารณาความรับผิดทางละเมิด แตกต่างจากหน่วยงานและคณะกรรมการ ป.ป.ท. ?


คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีความเห็นเรื่อง การดำเนินการของสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สป.พม) กรณีกระทรวงการคลังมีความเห็นเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่แตกต่างจากหน่วยงาน และคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยและทางอาญาเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทรวงการคลังไม่มีความเห็นให้รับผิดทางละเมิด โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายกรณีดังนี้

ประเด็นแรก สป.พม. ได้มีคำสั่งเรียกให้ นาง ป. และ นางสาว พ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คนละ 171,000 บาท แต่กระทรวงการคลังมีความเห็นให้ นาง ป. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 68,400 บาท และไม่ได้ให้ นางสาว พ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า คำสั่งของ สป.พม. ที่เรียกให้ นาง ป. และ นางสาว พ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด สป.พม. จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลังหรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นในประเด็นนี้ว่า สป.พม. ต้องมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ตามข้อ 18 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    - โดยในส่วนของ นาง ป. สป.พม. จะต้องเพิกถอนคำสั่งเดิมบางส่วน และกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง แม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนราย นาง ป. แล้วก็ตาม เนื่องจากมาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุดถ้ามีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
    - ส่วนกรณี นางสาว พ. สป.พม. จะต้องเพิกถอนคำสั่งเดิมทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
    ทั้งนี้ สป.พม. ต้องแจ้งคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งสองกรณีให้ศาลปกครองสูงสุดทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย

ประเด็นที่สอง กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีความเห็นว่า นาง พ. ได้เบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริต และมีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัย แต่กระทรวงการคลังไม่ได้มีความเห็นว่า นาง พ. เป็นผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สป.พม. จะมีคำสั่งให้ นาง พ. รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหายได้หรือไม่ และจะส่งผลต่อเจ้าหน้าที่อื่นที่กระทรวงการคลังมีความเห็นให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การพิจารณาไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เป็นการสอบข้อเท็จจริงเพื่อชี้มูลความผิดทางวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา และเพื่อชี้มูลความผิดทางอาญา ให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยมิได้มีบทบัญญัติให้มติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีผลต่อการสอบสวนเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น มติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และไม่สามารถนำมติดังกล่าวมาใช้เป็นฐานในการออกคำสั่งให้ นาง พ. รับผิดชดใชัค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี การที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่า นาง พ. กระทำความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องมีเจตนากระทำโดยผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ สป.พม. ที่อาจเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ด้วย ดังนั้น หาก สป.พม. พิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการไต่ส่วนข้อเท็จจริงและชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ท. แล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของ นาง พ. สป.พม. ก็ชอบที่จะดำเนินการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ให้ได้ความว่า นาง พ. เป็นผู้กระทำละเมิดหรือไม่ และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวนเท่าใด และส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป โดยเมื่อกระทรวงการคลังมีความเห็นเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของ นาง พ. รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นเป็นประการใดแล้ว สป.พม. ก็ต้องมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

อนึ่ง การดำเนินการดังกล่าว จะต้องเป็นไปโดยไม่ชักช้า เพราะหากปรากฏว่า นาง พ. จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การใช้สิทธิเรียกร้องต่อ นาง พ. จะต้องกระทำภายในอายุความ ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 คือ ภายในสองปีนับแต่วันที่ สป.พม. ได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่ชี้มูลความผิด อันเป็นวันที่ถือได้ว่า ปลัด พม. ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ที่มา ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 525/2563, รวมความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับย่อที่น่าสนใจ เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกันยายน 2563
#นักเรียนกฎหมาย
12 เมษายน 2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542