แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ชุดที่ 3)
ข้อ 21 ข้อใดไม่ถูกต้อง
ก. นางเอ สัญชาติไทย เชื้อชาติจีน มีคุณสมบัติทั่วไปที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน
ข. เด็กชายบี รู้ว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติทั่วไปในการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
ค. นายซี เจ้าหน้าที่บัญชี พรรคประเทศไทย สมัครสอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน เพราะอยู่ในหลักเกณฑ์ของ ก.พ. พิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้
ง. นางสาวดี เคยถูกจำคุกเพราะขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เพราะโทษจำคุกดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
ข้อ 22 มติของ ก.พ. ในการยกเว้นลักษณะต้องห้ามการเป็นข้าราชการพลเรือน เป็นไปตามข้อใด
ก. ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
ข. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
ค. ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
ง. ไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
ข้อ 23 ข้อใดถือเป็นการลงมติของ ก.พ. ในการพิจารณายกเว้นลักษณะต้องห้ามการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ก. ลงมติโดยเปิดเผย
ข. ลงมติโดยลับ
ค. ลงมติโดยชัดแจ้ง
ง. ลงมติโดยอ้อม
ข้อ 24 บทบัญญัติลักษณะ 5 ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ถูกยกเลิกโดยกฎหมายใด
ก. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ข. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
ค. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563
ง. พระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
ข้อ 25 การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ข้าราชการพลเรือนเป็นไปตามข้อใด
ก. พระราชกฤษฎีกา
ข. กฎ ก.พ.
ค. ระเบียบ ก.พ.
ง. ประกาศ ก.พ.
ข้อ 26 จากข้อ 5 ให้นำกฎระเบียบใดมาใช้บังคับแก่การจ่ายเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน
ก. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ค. พระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2518
ง. พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 27 ผู้ใดมีอำนาจหน้าที่กำหนดการลาหยุดราชการของข้าราชการพลเรือน
ก. คณะรัฐมนตรี
ข. คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ค. รัฐมนตรีเจ้าสังกัด
ง. ปลัดกระทรวง
ข้อ 28 ผู้ที่เคยถูกลงโทษไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัย อาจได้รับยกเว้นให้เข้ารับราชการได้ ต่อเมื่อออกจากราชการไปแล้วกี่ปี
ก. 2 ปี
ข. 3 ปี
ค. 4 ปี
ง. ไม่มีข้อใดถูกต้อง
ข้อ 29 ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ คือใคร
ก. ก.พ.
ข. กระทรวงการคลัง
ค. สำนักงบประมาณ
ง. คณะรัฐมนตรี
ข้อ 30 ข้อใดมิใช่ลักษณะต้องห้ามของข้าราชการพลเรือน
ก. เป็นเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
ข. ถูกสั่งพักราชการ
ค. ถูกฟ้องคดีล้มละลาย
ง. บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
เฉลย
ข้อ 21 ตอบ ค. มาตรา 36 ข. (5) เจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง เป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการพลเรือนอย่างเด็ดขาด ไม่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณายกเว้น ตามมาตรา 36 วรรคสอง
ข้อ 22 ตอบ ง. มาตรา 36 วรรคสอง บัญญัติให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการที่มาประชุม เพื่อยกเว้นลักษณะต้องห้ามการเป็นข้าราชการพลเรือน
ข้อ 23 ตอบ ข. มาตรา 36 วรรคสอง บัญญัติให้การลงมติในการพิจารณายกเว้นลักษณะต้องห้ามการเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องกระทำโดยลับ (ลงมติลับ)
ข้อ 24 ตอบ ง. บทบัญญัติในลักษณะ 5 ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ถูกยกเลิกโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
ข้อ 25 ตอบ ค. มาตรา 37 บัญญัติให้การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.พ. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กล่าวคือ ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ข้อ 26 ตอบ ข. ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ข้อ 3 กำหนดให้นำพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่การจ่ายเงินเดือนข้าราชการพลเรือน
ข้อ 27 ตอบ ก. มาตรา 39 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีกำหนดการลาหยุดราชการของข้าราชการพลเรือน
ข้อ 28 ตอบ ข. มาตรา 36 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้เคยถูกลงโทษไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยซึ่งออกจากราชการไปเกิน 3 ปี แล้ว อาจได้รับการยกเว้นให้เข้ารับราชการได้
ข้อ 29 ตอบ ง. มาตรา 38 วรรคสอง บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนอาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ข้อ 30 ตอบ ค. ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (6) เป็นบุคคลล้มละลาย คือศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ดังนั้นกรณีที่ถูกฟ้องคดีล้มละลาย ยังไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลล้มละลาย จึงไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการพลเรือน
#นักเรียนกฎหมาย
24 มกราคม 2564
แบบขอ้สอบชุดให้ความรุเพิมกับพมได้ขึ้ยอีกระดันใ
ตอบลบยินดีครับ
ลบ