คำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา พ.ศ. 2563


เจตนารมณ์ในการออก คำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา พ.ศ. 2563 เนื่องจาก การใช้โทษอาญาต้องคำนึงถึงพฤติการณ์ของการกระทำผิดกับโทษที่จะลงนั้น ให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกัน และต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้รู้สำนึกในความผิดของตน เพื่อส่งกลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนป้องปรามมิให้ผู้กระทำผิดหรือผู้อื่นกระทำผิดซ้ำอีกด้วย เมื่อโทษอาญาสำหรับลงแก่ผู้กระทำผิดมีหลายรูปแบบ และการแก้ปัญหาอาชญากรรมไม่อาจอาศัยแต่โทษที่รุนแรงอย่างเดียว การใช้โทษอาญาย่อมต้องตระหนักถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และพิจารณาปรับใช้โทษอาญาให้มีความเหมาะสมแก่ผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล ประกอบกับศาลมีอำนาจบังคับใช้มาตรการที่เป็นทางเลือกอันมิใช่การคุมขังได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น เพื่อให้การใช้โทษอาญาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำ ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา ดังนี้

ข้อ 1 การลงโทษทางอาญา พึงคำนึงถึงเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม และการป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดอีก

ในการกำหนดโทษสถานใด เพียงใด นอกจากพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำผิดและความเสียหายแล้ว ศาลพึงพิจารณาถึงความเป็นมาแห่งชีวิตของผู้กระทำผิด ดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบด้วยเสมอ แม้เป็นกรณีที่ไม่อาจรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ก็ตาม ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจปรากฏจากการสืบเสาะ สำนวนการสอบสวน รายงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือการไต่สวนของศาลก็ได้

ข้อ 2 โทษกักขังหรือจำคุก เป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างรุนแรง และส่งผลต่อการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำผิด จึงต้องใช้ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และพึงใช้ต่อเมื่อไม่สามารถใช้โทษหรือมาตรการที่เป็นทางเลือกอื่นได้

ระยะเวลากักขังหรือจำคุก ควรได้สัดส่วนกับความจำเป็นในการป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ และการฟื้นสำนึกของผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล

การใช้โทษปรับ
ข้อ 3 การกำหนดจำนวนเงินค่าปรับ ศาลพึงคำนึงถึงฐานะการเงินหรือความสามารถในการชำระของผู้กระทำผิดแต่ละบุคคลประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้มีผลเป็นการยับยั้งมิให้เกิดการกระทำความผิดอีก จำนวนค่าปรับจึงอาจแตกต่างไปจากบัญชีมาตรฐานโทษได้

ข้อ 4 ถ้าลักษณะของความผิดไม่ใช่ความผิดที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อคำนึงถึงฐานะการเงิน รายได้ และภาระหนี้สินต่างๆ ของผู้กระทำผิดแล้ว ศาลอาจให้ผู้นั้นผ่อนชำระค่าปรับได้ภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นเหมาะสม และในระหว่างผ่อนชำระไม่ควรสั่งกักขังผู้นั้น เว้นแต่จะมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ

ข้อ 5 หากความปรากฏแก่ศาลว่า ผู้กระทำผิดไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระค่าปรับได้ครบถ้วน เพราะเหตุยากจนและความผิดที่กระทำไม่มีลักษณะตามที่ระบุไว้ในข้อ 4 ศาลจะสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปทันทีในวันพิพากษาคดี หรือในเวลาใดๆ ภายหลังจากนั้น โดยไม่ต้องมีการร้องขอก็ได้

การรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ
ข้อ 6 บัญชีมาตรฐานโทษ ถือเป็นเพียงข้อแนะนำ หากศาลเห็นว่าการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เหมาะสมได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดยิ่งกว่าการจำคุก ศาลอาจพิพากษาแตกต่างไปจากบัญชีมาตรฐานโทษได้

ข้อ 7 การรอการกำหนดโทษ พึงใช้ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ควรให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับตัวโดยไม่ต้องมีประวัติว่าเคยต้องโทษมาก่อน

ข้อ 8 การรอการลงโทษ อาจรอทั้งโทษจำคุกและโทษปรับก็ได้

ข้อ 9 ในกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่วางไว้ ศาลอาจใช้วิธีตักเตือน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ หรือเพิ่มความเข้มข้นของเงื่อนไข เช่น การคุมประพฤติแบบเข้มงวด การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใด ที่สามารถใช้ตรวจสอบจำกัดการเดินทาง หรือนำโทษปรับที่รอไว้มาลงโทษจำเลยก่อน โดยยังไม่ลงโทษจำคุกทันทีก็ได้ แต่หากจะลงโทษถึงจำคุก พึงพิจารณาว่าสมควรจะใช้วิธีการลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หรือไม่ ด้วย เพื่อเลี่ยงการมีประวัติต้องโทษจำคุก และหากใช้วิธีการดังกล่าว ให้นำความในข้อ 11 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การยกโทษจำคุกและการกักขังแทนโทษจำคุก
ข้อ 10 กรณีที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน พึงพิจารณาเลี่ยงโทษจำคุกโดยวิธีการต่อไปนี้ตามลำดับ
    (1) ยกโทษจำคุกเสีย และคงปรับสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55
    (2) ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23

ข้อ 11 การกักขังแทนโทษจำคุก เป็นมาตรการเพื่อฟื้นสำนึกผู้กระทำผิดที่ไม่ร้ายแรง และมีโอกาสกลับตัวได้ แต่มีความจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพชั่วขณะ เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม และเกรงกลัวต่อการกระทำผิดอีก จึงควรกำหนดระยะเวลาในการกักขังเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการป้องปราม และเหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดแต่ละคน โดยอาจกำหนดระยะเวลาให้น้อยกว่าโทษจำคุกที่วางไว้ก็ได้

กรณีศาลจะมีคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำผิดไว้ในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคสอง ศาลพึงพิจารณาถึงลักษณะการกระทำความผิดและสภาพของผู้ถูกกักขัง เช่น ผู้ถูกกังขังเป็นผู้สูงอายุ เป็นหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตร มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมที่จะกักขังไว้ในสถานที่กักขัง หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ซึ่งถ้าต้องกักขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิตหรือาจติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ เป็นต้น

ศาลพึงพิจารณาสถานที่กักขัง ว่าอยู่ในสภาพที่เหมาะสมหรือไม่ หากไม่อยู่ในสภาพดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังในสถานที่อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคสาม

ที่มา คำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา พ.ศ. 2563 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
17 ธันวาคม 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542