แนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา


ประธานศาลฎีกาได้ออก คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ. 2563 เพื่อให้กระบวนการทางศาลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเหยื่ออาชญากรรมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ดังนี้

1. ศาลพึงปฏิบัติต่อผู้เสียหาย ด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของบุคคล ตลอดจนความปลอดภัย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกาย จิตใจ ฐานะ สถานภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาทางศาล

2. ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาล พึงรับฟังความคิดเห็น หรือความกังวลใจของผู้เสียหาย ด้วยความเมตตาและเข้าใจ และด้วยความเป็นกลางโดยปราศจากอคติที่มีต่อทุกฝ่ายในคดี

3. เมื่อเห็นเป็นการจำเป็น ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาล จัดทำข้อมูลประวัติของผู้เสียหาย ผลกระทบ หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย ความคิดเห็น หรือความกังวลใจของผู้เสียหาย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดี

4. กรณีผู้เสียหายร้องขอความคุ้มครองความปลอดภัย ให้ดำเนินการตาม ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการคุ้มครองและค่าตอบแทนพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2548 หรือศาลอาจมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลดำเนินการตามความเหมาะสม

5. ศาลพึงอธิบายถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหาย ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณา รวมถึงแจ้งความคืบหน้า และการสิ้นสุดของการดำเนินกระบวนพิจารณาให้ผู้เสียหายทราบ

6. ศาลพึงระมัดระวังไม่ให้มีการเผชิญหน้ากัน ระหว่างผู้ต้องหาหรือจำเลยกับผู้เสียหายและพยาน โดยจัดห้องพักผู้เสียหายและพยานเหล่านั้น แยกต่างหากจากห้องพักพยานทั่วไป รวมถึงอาจจัดให้มีการสืบพยานผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ หรือสืบพยานแบบไม่เผชิญหน้าเท่าที่ไม่ขัดแย้งต่อกฎหมาย ในคดีต่อไปนี้
    1) คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ 
    2) คดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว 
    3) คดีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กหรือเยาวชน 
    4) คดีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือสังคม 

7. การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลพึงคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เสียหาย โดยอาจสอบถามความคิดเห็นของผู้เสียหาย เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

8. ในกรณีที่มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลอาจกำหนดมาตรการกำกับดูแลความประพฤติของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิทธิของผู้เสียหาย เช่น
    1) ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือติดต่อกับผู้เสียหายไม่ว่าด้วยวิธีการใด
    2) ห้ามปรากฏตัวให้ผู้เสียหายเห็นโดยจงใจ
    3) ห้ามเข้าไปในสถานที่ที่ผู้เสียหายอยู่อาศัย
    4) ห้ามสืบหาหรือตรวจสอบความเป็นไปของผู้เสียหาย

9. ศาลพึงให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายตามสมควร ในการดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าตอบแทน หรือการช่วยเหลืออย่างอื่นที่จำเป็น

10. ศาลพึงช่วยเหลือแนะนำผู้เสียหายในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เป็นธรรม รวดเร็ว และเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย

11. ศาลพึงรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหาย และคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายประกอบการกำหนดโทษด้วยเสมอ 

12. ในกรณีที่จะพิจารณารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลย หากผู้เสียหายยังไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พึงกำหนดให้การขวนขวายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงื่อนไขในการคุมความประพฤติจำเลยด้วย และอาจวางเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายด้วยก็ได้

13. ศาลพึงแจ้งผลคำพิพากษาพร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา ให้ผู้เสียหายทราบโดยเร็วโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

14. กรณีที่มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำเป็นต้องมีการบังคับคดี ให้เจ้าหน้าที่ศาลให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินการเพื่อบังคับคดี รวมทั้งการประสานงานแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายหรือขอข้อมูลจากองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์แก่การยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับคดีโดยวิธีการอื่นต่อไป

ที่มา/คลิกดาวน์โหลดไฟล์
- พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5 บัญญัติว่า "ให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน และให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในการปฏิบัติตามระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง" 


#นักเรียนกฎหมาย
12 พฤศจิกายน 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542