ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง พ.ศ. 2563


ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป) มีสาระสำคัญดังนี้

1. การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามมาตรา 20 ตรี แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (สาระสำคัญมาตรา 20 ตรี) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดนี้

กรณีที่มิได้บัญญัติไว้ในข้อกำหนดนี้โดยเฉพาะ ให้นำข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 20 ทวิ มาใช้บังคับแก่การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องด้วยโดยอนุโลม (ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

2. การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามข้อกำหนดนี้ ให้ใช้ได้กับข้อพิพาททางแพ่งทุกลักษณะ (เว้นแต่เป็นกรณีต้องห้ามตามข้อกำหนดนี้)

3. การยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ให้ทำเป็นหนังสือโดยระบุชื่อและภูมิลำเนาของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายละเอียดของข้อพิพาท หรือใช้แบบพิมพ์ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนด

4. การยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง อาจดำเนินการได้โดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ โทรสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนด

ในกรณีที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจ ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาลแนะนำผู้ร้องตามสมควรแก่กรณี เพื่อให้สามารถยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้

5. ให้เจ้าหน้าที่สอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากผู้ร้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะรับคำร้องไว้ไกล่เกลี่ยหรือไม่ ในกรณีมีข้อสงสัยศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้ ทั้งนี้ เอกสารหรือหลักฐานที่ได้ยื่นในชั้นนี้ ให้รวบรวมไว้เพื่อใช้ในการไกล่เกลี่ยต่อไป

6. กรณีดังต่อไปนี้ มิให้รับคำร้องไว้ไกล่เกลี่ย
    1) เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่า การยื่นคำร้องเป็นไปโดยไม่สุจริต หรือมีเจตนาเอาเปรียบคู่กรณีหรือบุคคลอื่น
    2) เมื่อปรากฏว่ามีการนำข้อพิพาทตามคำร้อง ไปยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลใดศาลหนึ่งไว้แล้ว โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ความในคดีนั้น
    3) เมื่อปรากฏว่าข้อพิพาทตามคำร้อง เคยได้รับการดำเนินการไกล่เกลี่ยตามข้อกำหนดนี้แล้ว แต่ไม่เป็นผล เว้นแต่พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยระบุพฤติการณ์เช่นว่านั้นมาในคำร้อง
    4) เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ หรือลักษณะของข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นสาระที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ย

7. ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องแล้ว หากความปรากฏว่าคำร้องนั้นต้องห้ามมิให้รับคำร้องไว้ไกล่เกลี่ย หรือคู่กรณีฝ่ายใดนำข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยไปฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งให้รับผิดทางแพ่ง ก็ให้ศาลสั่งให้ยุติการไกล่เกลี่ยได้

8. การสอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ในการเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย หรือการติดต่อประสานงานระหว่างศาลกับคู่กรณี อาจดำเนินการโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยวิธีการตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนดก็ได้

9. เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาข้อตกลง หรือสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลอาจสั่งให้คู่กรณีให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเพิ่มเติม ตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้

10. เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามข้อกำหนดนี้ไปในทางที่มิชอบ ในการทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือ คู่กรณีต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง เว้นแต่เป็นกรณีทีเหตุจำเป็นและได้รับอนุญาตจากศาล

11. การขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องยื่นคำขออย่างช้าในวันที่ทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยแสดงถึงเหตุผลความจำเป็นในการร้องขอ

ถ้าศาลเห็นว่า มีความจำเป็นที่สมควรจะมีคำพิพากษาไปทันทีในเวลานั้น ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่สมควรจำมีคำพิพากษาในเวลานั้น ก็ให้สั่งยกคำขอ

คำว่า "มีความจำเป็นที่สมควรจะมีคำพิพากษา" ดังกล่าว ให้รวมถึง
    1) ตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ กำหนดให้คู่กรณีกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด หรือต้องดำเนินการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหากไม่มีคำพิพากษาตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว อาจเกิดข้อขัดข้อง
    2) พฤติการณ์หรือลักษณะของข้อพิพาท อาจเกิดข้อพิพาทขึ้นอีก หรือความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
    3) กรณีมีภาวะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ระบบการเงิน การลงทุน หรือการบริหารจัดการในภาครัฐ
    4) กรณีมีความจำเป็นอื่นใด ที่ต้องมีคำพิพากษาตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่คู่สัญญาทุกฝ่าย

13. กรณีใดที่ศาลมีคำพิพากษาตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ถือสำนวนไกล่เกลี่ยเป็นสำนวนความ และให้ศาลจดแจ้งรายงานกระบวนพิจารณารวมไว้ในสำนวน

ให้จัดทำสารบบความ และสารบบคำพิพากษา เช่นเดียวกับคดีที่มีการยื่นฟ้องโดยแยกจากคดีทั่วไป และให้เรียกผู้ยื่นคำร้องเป็นโจทก์ คู่กรณีอีกฝ่ายเป็นจำเลย

14. ในกรณีจำเป็นต้องมีวิธีการใดในทางธุรการ เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดวิธีการนั้น

15. ประธานศาลฎีกาเป็นผู้รักษาการตามข้อกำหนดนี้

#นักเรียนกฎหมาย
9 พฤศจิกายน 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542