สรุปสาระสำคัญ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558


พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายกลางที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป (ยกเว้นมาตรา 17 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตจำนวนมาก การประกอบกิจการของประชาชน จะต้องขออนุญาตจากส่วนราชการหลายแห่ง อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตบางฉบับไม่ได้กำหนดระยะเวลา เอกสารและหลักฐานที่จำเป็น รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาไว้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการยื่นคำขออนุญาตดำเนินการต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายกลางที่จะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต และมีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขออนุญาตซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 

2. กฎหมายนี้ให้ใช้บังคับกับบรรดาการอนุญาต การจดทะเบียนหรือการแจ้ง ที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง ก่อนดำเนินการใด ทั้งนี้บทบัญญัติของกฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายฉบับนี้ ให้ใช้กฎหมายฉบับนี้แทน

3. การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมาย
พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ไม่ใช้บังคับแก่กิจการหรือหน่วยงาน ต่อไปนี้
    3.1 รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
    3.2 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี และการวางทรัพย์
    3.3 การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
    3.4 การอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    3.5 การอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารด้านยุทธการ รวมทั้งตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์ และกฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน

การยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การดำเนินกิจการใดหรือกับหน่วยงานใดนอกจากที่กำหนดนี้แล้ว ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (ปัจจุบันยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นกิจการหรือหน่วยงานใดเพิ่มเติม)

4. การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต
ทุก 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (หรือปี พ.ศ. 2563 , 2568...) ผู้อนุญาตหรือผู้ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจอนุญาต จะต้องพิจารณากฎหมายว่าสมควรปรับปรุง เพื่อยกเลิกการอนุญาต หรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาตหรือไม่ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็น จะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทน ในกำหนดระยะเวลาที่เร็วกว่ารอบ 5 ปีนี้ก็ได้

ผู้อนุญาตจะต้องเสนอผลการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณายกเลิกการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต โดยให้คณะรัฐมนตรีรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณา

5. คู่มือสำหรับประชาชน
ผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต จะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างน้อยประกอบด้วย 
    - หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ 
    - ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต 
    - รายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นพร้อมกับคำขอ 
    - จะกำหนดให้ยื่นคำขอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการยื่นคำขอด้วยตนเองก็ได้ 

คู่มือสำหรับประชาชน ต้องปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ที่กำหนดให้ยื่นคำขอ และเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อประชาชนประสงค์จะได้สำเนาคู่มือดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดสำเนาให้ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณีก็ได้ โดยให้ระบุค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนด้วย

คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีหน้าที่ตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต ว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ หากเห็นว่าล่าช้าเกินสมควร ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ผู้อนุญาตแก้ไขให้เหมาะสมโดยเร็ว

ให้ส่วนราชการจัดให้มี ศูนย์บริการร่วม เพื่อรับคำขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตต่างๆ ไว้ ณ ที่เดียวกันตามแนวทางที่ ก.พ.ร. กำหนด

6. พนักงานเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ตรวจสอบคำขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นให้ถูกต้องครบถ้วน หากเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือขาดเอกสารหลักฐานให้แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบทันที
    - ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ขณะนั้น ให้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วน
    - ถ้าเป็นกรณีไม่อาจแก้ไขหรือเพิ่มเติมในขณะนั้น ให้บันทึกความบกพร่องและรายการเอกสารที่จะต้องยื่นเพิ่มเติม พร้อมกำหนดเวลาให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ยื่นคำขอลงนามไว้ในบันทึกนั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมอบสำเนาบันทึกดังกล่าว ให้ผู้ยื่นคำขอไว้เป็นหลักฐาน

กรณีที่ผู้ยื่นคำขอ จัดทำคำขอถูกต้องและแนบเอกสารครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว หรือมีการแก้ไขหรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมครบถ้วนตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำ หรือตามที่ปรากฏในบันทึกแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นอีกไม่ได้ และจะปฏิเสธการพิจารณาคำขอโดยอาศัยเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของคำขอหรือความไม่ครบถ้วนของเอกสารไม่ได้ เว้นแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือทุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นผลให้ไม่อาจอนุญาตได้ (ในกรณีนี้ ให้ผู้อนุญาตสั่งการตามที่เห็นสมควร และดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า)

7. กรณีผู้ยื่นคำขอไม่แก้ไขคำขอหรือไม่ส่งเอกสารเพิ่มเติม ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งหรือตามบันทึกดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืนคำขอพร้อมแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคำขอให้ทราบด้วย

ผู้ยื่นคำขอจะอุทธรณ์คำสั่งคืนคำขอ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือจะยื่นคำขอใหม่ก็ได้ แต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ยื่นคำขอจะต้องยื่นคำขอใหม่ภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วย

8. ผู้อนุญาตต้องดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ

เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว หากยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้าทุก 7 วัน จนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ พร้อมส่งสำเนาการแจ้งให้ ก.พ.ร. ทราบทุกครั้ง

ถ้า ก.พ.ร. เห็นว่า ความล่าช้านั้น เกินสมควรแก่เหตุหรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ให้ ก.พ.ร. รายงานต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมเสนอแนะให้มีการพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานนั้น

การไม่แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอดังกล่าว ให้ถือว่าผู้อนุญาตกระทำการหรือละเว้นกระทำการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เว้นแต่จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

9. กรณีมีกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับใด ออกใช้บังคับและมีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ปรากฏในคู่มือสำหรับประชาชน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ให้ใช้บังคับกับการยื่นคำขอที่ได้ยื่นไว้แล้วโดยชอบก่อนวันที่กฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เว้นแต่กฎหมายนั้นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น แต่สำหรับในกรณีกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับนั้นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นได้ ก็แต่เฉพาะในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ยื่นคำขอ

10. การชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต
กรณีกฎหมายกำหนดอายุใบอนุญาตไว้ และกิจการหรือการดำเนินการที่ได้รับอนุญาตนั้น มีลักษณะเป็นกิจการหรือการดำเนินการที่เห็นได้ว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตจะประกอบกิจการหรือดำเนินการนั้นต่อเนื่องกัน คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ แทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 

เมื่อหน่วยงานซึ่งมีอำนาจออกใบอนุญาตได้รับค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ให้ออกหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตโดยเร็ว และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามกฎหมายแล้ว

ก่อนตราพระราชกฤษฎีกา ให้คณะรัฐมนตรีส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้มีมติทักท้วง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกาต่อไป

ก.พ.ร. มีหน้าที่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ชำระค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตดังกล่าว

11. ผู้อนุญาตมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทาง การตรวจสอบการประกอบกิจการหรือการดำเนินกิจการของผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตกำหนด 

พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้อนุญาตมีหน้าที่ต้องตรวจสอบตามหลักเกณฑ์และแนวทางดังกล่าว

กรณีมีผู้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ หรือเสียหายจากการประกอบกิจการหรือการดำเนินกิจการของผู้ได้รับอนุญาต ไม่ว่าความจะปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เองหรือมีผู้ร้องเรียน ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการตรวจสอบและสั่งการตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว

12. ศูนย์รับคำขออนุญาต 
กรณีจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้คณะรัฐมนตรีมีมติจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับคำขอตามกฎหมาย

ศูนย์รับคำขออนุญาตดังกล่าว มีฐานะเป็นส่วนราชการ ตามมาตรา 18 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และจะให้มีสาขาของศูนย์ประจำกระทรวงหรือประจำจังหวัดด้วยก็ได้

พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้กำหนดรายชื่อกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตที่จะให้อยู่ภายใต้การดำเนินการของศูนย์รับคำขออนุญาต และจะกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอ ยื่นคำขอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

13. การดำเนินการและผลทางกฎหมายของศูนย์รับคำขออนุญาต
    13.1 ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการอนุญาต กำหนดให้ต้องยื่นคำขอหรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียมใด ณ สถานที่ใด ถ้าได้มีการยื่นคำขอหรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียม ณ ศูนย์รับคำขออนุญาตแล้ว ให้ถือว่าได้มีการยื่นคำขอหรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียมโดยชอบตามกฎหมายนั้นแล้ว
    13.2 บรรดาเงินค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ศูนย์รับคำขออนุญาตได้รับไว้ดังกล่าว ให้ศูนย์รับคำขออนุญาตนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินในนามของหน่วยงานของผู้อนุญาต หรือส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี และแจ้งให้หน่วยงานของผู้อนุญาตทราบ
    13.3 กรณีที่หน่วยงานของผู้อนุญาตมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่จะต้องนำส่งคลัง ให้ศูนย์รับคำขออนุญาตหักเงินดังกล่าวแทน และส่งมอบเงินที่หักไว้นั้นให้แก่หน่วยงานของผู้อนุญาต โดยให้ศูนย์รับคำขออนุญาตมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายของศูนย์รับคำขออนุญาตตามอัตราที่จะได้ตกลงกับหน่วยงานของผู้อนุญาต
    13.4 ระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน ให้นับแต่วันที่ศูนย์รับคำขออนุญาต ส่งเรื่องให้ผู้อนุญาต โดยศูนย์รับคำขออนุญาตจะต้องส่งเรื่องให้ผู้อนุญาตไม่ช้ากว่า 3 วันทำการ และให้นำเรื่องการไม่แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบ ให้ถือว่าผู้อนุญาตกระทำการหรือละเว้นกระทำการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เว้นแต่จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย (ข้อ 8) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
    13.5 ผู้อนุญาตมีหน้าที่จะต้องส่งคู่มือสำหรับประชาชนที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันให้ศูนย์รับคำขออนุญาตตามจำนวนที่จำเป็น และดำเนินการให้มีการฝึกอบรมหรือชี้แจงแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่อให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
    13.6 เจ้าหน้าที่ของศูนย์รับคำขออนุญาตมีหน้าที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบคำขอและแจ้งให้ดำเนินการแก้ไข และต้องรับผิดชอบในฐานะเช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ (ข้อ 6)

14. ศูนย์รับคำขออนุญาต มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
    14.1 รับคำขอและค่าธรรมเนียม รวมทั้งคำอุทธรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต
    14.2 ให้ข้อมูล ชี้แจง และแนะนำผู้ยื่นคำขอหรือประชาชน ให้ทราบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต รวมทั้งความจำเป็นในการยื่นคำขออื่นใดที่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายทั้งปวง ในการประกอบกิจการหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
    14.3 ส่งคำขอ หรือคำอุทธรณ์ พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคอยติดตามเร่งรัดหน่วยงานดังกล่าว เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ และคู่มือสำหรับประชาชนหรือตามกฎหมายที่ให้สิทธิในการอุทธรณ์
    14.4 กรณีที่เห็นว่าหลักเกณฑ์หรือวิธีการในการยื่นคำขอ มีรายละเอียดหรือกำหนดให้ต้องส่งเอกสารไม่จำเป็น หรือเป็นภาระเกินสมควรแก่ประชาชน ให้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
    14.5 รวบรวมปัญหาและอุปสรรคจากการอนุญาต และการดำเนินการของศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่อเสนอต่อ ก.พ.ร. เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
    14.6 เสนอแนะในการพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลา เกี่ยวกับการอนุญาตต่างๆ รวมถึงข้อเสนอในการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น

15. นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

#นักเรียนกฎหมาย
3 พฤศจิกายน 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542