การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัย สำหรับรองอัยการสูงสุด
คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ได้วาง ระเบียบคณะกรรมการอัยการ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับรองอัยการสูงสุด พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ในกรณีที่บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งอื่นใด ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
2. เมื่อมีผู้เสนอเรื่องต่อ ก.อ. กล่าวหารองอัยการสูงสุด ว่ากระทำผิดวินัย ให้ ก.อ. พิจารณาดำเนินการสอบสวนชั้นต้น เพื่อให้ได้ความจริงและเป็นธรรมโดยไม่ชักช้า
3. การกล่าวหาในเรื่องต่อไปนี้ ก.อ. อาจไม่ดำเนินการสอบสวนก็ได้
1) กล่าวหาเป็นบัตรสนเท่ห์ ซึ่งไม่มีพยานหลักฐานแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจนไม่ชี้พยานบุคคลแน่นอนพอที่จะสอบสวนได้
2) กล่าวหาไม่มีข้อมูล หรือไม่มีสาระเพียงพอให้สอบสวนหาความจริงได้
3) กล่าวหาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่
4. ในกรณีที่ ก.อ. พิจารณาเห็นว่า การกล่าวหานั้นเป็นกรณีที่จะดำเนินการสอบสวนได้ ก.อ. อาจมอบหมายให้กรรมการอัยการคนหนึ่งคนใด หรือข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นตามที่เห็นสมควร เว้นแต่มีความจำเป็นจะแต่งตั้งกรรมการจากข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนชั้นต้นแทน และให้กรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
5. การสอบสวนชั้นต้น ให้ดำเนินการตาม ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้น กรณีข้าราชการอัยการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และการรายงานผลการสอบสวนชั้นต้นที่ปรากฏว่ามีมูลเป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยอนุโลม
6. เมื่อ ก.อ. ได้รับรายงานผลการสอบสวนชั้นต้นแล้ว เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำผิดวินัย หรือการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดวินัย หรือไม่มีมูล ให้มีมติยุติเรื่อง
7. ในกรณีที่ ก.อ. เห็นว่า กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้มีมติตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อไป
8. ในกรณีที่ผลการสอบสวนชั้นต้น ปรากฏว่ามีมูลเป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ ก.อ. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างน้อย 3 คน ซึ่งมิใช่คณะกรรมการสอบสวน (ในข้อ 4 , 5) เพื่อทำการสอบสวน โดยคณะกรรมการสอบสวนต้องเป็นกรรมการอัยการ หรือข้าราชการอัยการที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา เว้นแต่มีความจำเป็นจะแต่งตั้งกรรมการจากข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาก็ได้
9. การสอบสวน ให้ดำเนินการตาม ระเบียบคณะกรรมการอัยการ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการอัยการ โดยอนุโลม
10. ในกรณีที่ ก.อ. เห็นว่า รองอัยการสูงสุดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ แล้วแต่กรณี
11. ให้ ก.อ. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
12. ให้ประธาน ก.อ. รักษาการตามระเบียบนี้
อ้างอิง / ดาวน์โหลดไฟล์
#นักเรียนกฎหมาย
3 กันยายน 2563
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น