กฎหมายใหม่ เดือนกันยายน 2563

1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563
    หมายเหตุ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่มีกรณีพิพาททางแพ่งใช้เป็นช่องทางในการยุติข้อพิพาทก่อนที่จะมีการฟ้องคดี โดยคู่กรณีสามารถร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอมดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และหากตกลงกันได้ก็อาจขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้ทันที ทำให้ข้อพิพาททางแพ่งสามารถยุติลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องคดี อีกทั้งเป็นการประหยัดเวลาและทรัพยากรต่างๆ ที่จะต้องสูญเสียในการดำเนินคดีอันจะเป็นประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคม
(คลิกอ่าน)


2. พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563
    หมายเหตุ โดยที่การแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรยังไม่อาจดำเนินการให้ครอบคลุมหนี้ของเกษตรกรบางกรณี จึงทำให้เกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่อาจรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ ประกอบกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร รวมถึงการกำหนดที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่กำหนดในกฎหมาย ขาดความยืดหยุ่นและทำให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สามารถรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ได้ในกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล และกำหนดที่ตั้งของสาขา ณ ที่ใดก็ได้


3. พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563
    หมายเหตุ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ได้เอง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชน รัฐจึงไม่จำเป็นต้องมีบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ไว้เป็นการเฉพาะ สมควรยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน และภาระผูกพันของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมที่เหลืออยู่ของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อไป


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542