การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครอง


   กฎกระทรวงการมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง พ.ศ. 2562 ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 136 ก/หน้า 1/11 ธันวาคม 2562 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการมอบอำนาจการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองของหน่วยงานของรัฐต่างๆ ในกรณีที่กฎหมายใดไม่ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้โดยเฉพาะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

   ข้อ 1 ในกรณีที่กฎหมายใดไม่ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้โดยเฉพาะ การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
   (1) การมอบอำนาจในราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาค เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นผู้พิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้
       (ก) นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (ข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (ค) รัฐมนตรีว่าการทบวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง ปลัดทบวง อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (ง) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (จ) ปลัดกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (ฉ) ปลัดทบวงอาจมอบอำนาจให้รองปลัดทบวง ผู้ช่วยปลัดทบวง หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (ช) อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอาจมอบอำนาจให้รองอธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีหรือผู้ช่วยอธิบดี ผู้อำนวยการกองหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าผู้อำนวยการกอง หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
       (ซ) ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผุ้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
   (2) การมอบอำนาจในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
   (3) การมอบอำนาจในรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้น
   (4) การมอบอำนาจในหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งหน่วยงานนั้น
   (5) การมอบอำนาจในสภาวิชาชีพ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งสภาวิชาชีพนั้น
   ในกรณีที่มีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจนั้นให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (ซ) ต่อไปได้

   ข้อ 2 การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1 ให้นำหลักเกณฑ์การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามข้อ 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
   ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1 เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองนั้นเอง
   หากเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำตามวรรคสอง เห็นว่าการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองอาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองเกินสมควร ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเสนอเรื่องต่อหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อพิจารณามอบหมายให้เจ้าหน้าที่อื่นเป็นผู้พิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองแทนได้ตามที่เห็นสมควร

   ข้อ 3 การมอบอำนาจตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ทำเป็นหนังสือ

อ้างอิง กฎกระทรวงการมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง พ.ศ. 2562 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
12 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542