ความระงับของสัญญายืมใช้คงรูป และอายุความ
1. เหตุที่ผู้ยืมตาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 648 บัญญัติว่า "อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม"
- ผู้ยืมตาย สัญญายืมระงับ
- ผู้ให้ยืมตาย สัญญายืมไม่ระงับ
2. เหตุอื่น
สัญญาระงับตามหลักทั่วไปของสัญญา ประกอบด้วย
- เมื่อส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม
- เมื่อทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายจนหมดสิ้นไป
- เมื่อมีการบอกเลิกสัญญา ตามมาตรา 645 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้"
อายุความ
1. อายุความเรียกค่าทดแทน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649 บัญญัติว่า "ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา"
- อายุความมาตรานี้ ใช้เฉพาะการเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาหรือหน้าที่ ตามมาตรา 642 , มาตรา 643 , มาตรา 644 และมาตรา 647 เช่น ค่าเสียหายเกี่ยวกับการชำรุดหรือเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม
- ถ้าการผิดหน้าที่ดังกล่าว ถึงขนาดเป็นการละเมิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องนำอายุความละเมิดมาใช้บังคับเมื่อมีการฟ้องให้รับผิดฐานละเมิด
2. อายุความเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืม
การฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืม หรือให้ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องภายในอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ซึ่งบัญญัติว่า "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี"
- กรณีผู้ให้ยืมเป็นเจ้าของทรัพย์สิน นอกจากมีสิทธิในฐานะคู่สัญญาฟ้องเรียกทรัพย์สินที่ยืมคืนภายใน 10 ปี แล้ว ยังมีสิทธิตามมาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติว่า "ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" ที่จะติดตามเอาทรัพย์สินของตนได้โดยไม่มีอายุความ ตราบใดที่ยังไม่มีการครอบครองปรปักษ์โดยผู้อื่น เจ้าของมีสิทธิเรียกคืนได้เสมอ
ที่มา
อาจารย์ปัญญา ถนอมรอด. คำบรรยายเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 1 วิชายืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น